ในงาน Thailand CEO ECONMASS Awards 2023 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “Fast Forward >> Better Thailand” โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ปาฐกถาพิเศษ “เร่งเครื่อง…ติดสปีดเศรษฐกิจไทย”
โดยแสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.8% ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 76% เป็น 90% รัฐบาลจึงต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่
“เศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้น ไม่ใช่จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาส หรือจีนกับสหรัฐ แต่เป็นปัญหาภายในประเทศไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟ น้ำมัน พักหนี้เกษตรกร รถไฟตลอดสาย บางสีในราคา 20 บาท ให้ประชาชนลดค่าใช้จ่าย ลืมตาอ้าปาก ถือเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนประเด็นค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันเฉลี่ย 337 บาท ปรับขึ้นมา 12% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 300 บาท ยืนยันว่าการเพิ่มค่าแรง การลดค่าใช้จ่าย การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว การเจรจา FTA และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเกิดขึ้น” นายเศรษฐากล่าว
เร่ง FTA-ดึงลงทุน
ขณะที่ระยะกลางและยาว การส่งเสริมการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ “โครงการแลนด์บริดจ์” ช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางเรือ ทำให้เมืองไทยน่ามาลงทุนเป็นฮับของการสร้างโรงงาน ไม่ใช่แค่ทางผ่านของการส่งออกสินค้า
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโรงงานผลิตอีวีจีนมากที่สุดในภูมิภาค แสดงถึงศักยภาพ ที่มีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี ทักษะ การบริหารจัดการ ทรัพยากรต่าง ๆ อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของนักลงทุน แต่ต้องการการโฆษณามากขึ้น จึงต้องเป็นทีมไทยแลนด์ออกไปดึงการลงทุน ซึ่งภายหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ผมเดินทางไปหลายประเทศ
ล่าสุดไปจีน รัฐบาลไม่อายที่จะพานักธุรกิจไปเชิญนักลงทุนเข้ามา และจะเร่งเจรจา FTA ให้สัมฤทธิผล ในเดือน พ.ย.นี้ จะไปประชุมเอเปก และเชิญนักธุรกิจไทยไปด้วย และจะให้บีโอไอเชิญนักธุรกิจข้ามชาติมาทำ business matching เพื่อบอกว่าประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว” นายเศรษฐากล่าว
รัฐ-เอกชนเร่งเครื่อง ศก.ไทย
ขณะที่เวทีสัมมนา “เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน” แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างภาคนโยบายและภาคเอกชน ได้มีการเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รายได้จากการส่งออก 10 เดือนปี’66 ติดลบ 3.8% แม้ว่าเดือน ก.ย. 66 เป็นบวก 2.1% และหากเทียบกับหลายประเทศที่ส่งออกติดลบมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังกังวลปัจจัยควบคุมไม่ได้ คือสงครามอิสราเอลหากยืดเยื้อจะกระทบมาก แต่จะทำงานร่วมกับเอกชนแก้ปัญหา เพื่อให้การส่งออกติดลบน้อยที่สุด
ทั้งยังสั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำงานหนัก ผลักดันเขตการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติม หาตลาดใหม่ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากปัจจุบันที่มีเอฟทีเอ 18 ประเทศ และอยู่ระหว่างเจรจาอีก 12 ฉบับ โดยจะประชุมทูตพาณิชย์เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2566
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยจะเดินแบบเดิมไม่ได้ ต้องเป็นเศรษฐกิจก้าวหน้ายั่งยืน โดยในอนาคตการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องออกเป็นการค้าและบริการมากขึ้น ขับเคลื่อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมกึ่งบริการ รวมถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เช่น อาหารไทย มีความละเอียดอ่อน มีมาตรฐาน, ประยุกต์เศรษฐกิจฐานราก ดึงการบริหารจัดการสมัยใหม่ เกษตรอุตสาหกรรม นักธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมชุมชน
“อุตสาหกรรมต้องอยู่ได้ดีกับชุมชนโดยรอบ มีการตรวจโรงงาน รายงานข้อมูล ให้ความสำคัญกับชุมชน ต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับชุมชน จะดูแค่มาตรฐานสินค้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกฎกติกาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เกี่ยวกับคาร์บอน พืชไร่ต้องไม่เผา ไม่กระทบกับพีเอ็ม 2.5 และกระจายรายได้ให้ชุมชนรอบโรงงาน”
ด้าน นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า โครงการอีอีซีดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ โจทย์คือต้องให้ไปถึงเชิงสังคมและประชาชน นำเงินลงทุนลงไปในพื้นที่ชุมชน ในอนาคตมุ่งดูแล 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ คือ 1.คลัสเตอร์สุขภาพ
2.คลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ 3.คลัสเตอร์เกี่ยวกับอีวี 4.คลัสเตอร์ BCG และ 5.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมบริการ โดยใน 3 ปีข้างหน้าจะพยายามจับเทรนด์อุตสาหกรรม และเลือกดูซัพพลายเชน มากกว่าอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายควิกวินที่ต้องดำเนินงานให้สำเร็จ ไม่เพียงแต่จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น แต่ระบบคมนาคมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินการตั๋วใบเดียวด้วย อีกด้านหนึ่ง ระบบคมนาคมต้องดำเนินการรถเมล์ไฟฟ้า รถเมล์อีวีเข้ามาในระบบสาธารณะและได้ให้ใบอนุญาตกว่า 2,000 คัน
โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีมากถึง 6,000 คันรอบกรุงเทพฯ ต่อยอดไปรถแท็กซี่ไฟฟ้า อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีรถไฟฟ้า 375 กิโลเมตร จากแผน 14 เส้นทาง 554 กิโลเมตร และจะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าจากทางเดี่ยวเป็นรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นอกจากจะเร่งแก้ไขเส้นทางถนนที่มีปัญหา และปัญหาคอขวดในพื้นที่ต่าง ๆ การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านคมนาคม โดยเฉพาะการเชื่อมโครงการแลนด์บริดจ์ ยุทธศาสตร์พลิกประเทศ
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำรายได้ 1 ใน 4 จีดีพีประเทศ ซึ่งก่อนโควิดไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท จำนวน 40 ล้านคน ในปีที่แล้วฟื้นตัวเต็มที่ 11 ล้านคน และปีนี้จะเพิ่มถึง 25 ล้านคน ซึ่งการที่รัฐบาลยกเว้นวีซ่าจีนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยมากขึ้น และต่อไปไทยต้องวางแนวทางเพื่อให้นักท่องเที่ยวอยู่นาน และมีการใช้จ่ายสูงขึ้น โดยผลักดันให้คนเที่ยวเมืองรอง และซอฟต์พาวเวอร์ยกระดับรายได้ในอนาคต
เซลส์แมนเศรษฐา มุ่งมั่น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะสามารถเติบโตได้ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้า จากการทำงานรัฐบาลชุดนี้ และการที่ได้จากเดินทางไปต่างประเทศร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นเซลส์แมน มีความมุ่งมั่น และได้พาภาคเอกชนไปพบซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่และมีการทำบิสซิเนสแมตชิ่ง
“เอกชนสนับสนุนให้มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้พยายามสรุปให้ได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งออกให้เติบโต และนำการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ให้ต่างชาติมาลงทุนฐานผลิตในไทย และให้รัฐบาลส่งเสริมเอกชนไปลงทุนต่างประเทศด้วย”
อีกด้านหนึ่ง การเดินหน้าเรื่องบีซีจีสำคัญมาก และประเทศไทยต้องยกระดับขีดความสามารถคนรุ่นใหม่ ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างของไทยพึ่งพาต่างชาติมากเกินไป ต้องสร้างความเข้มแข็งจากในประเทศด้วย