ธรรมนัสฯ ชง 2 มาตรการ ชะลอการขายข้าวรักษาเสถียรภาพราคา เข้า  ครม. 7 พ.ย. นี้

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ธรรมนัสฯ เตรียมเสนอ 2 มาตรการ ชะลอการขายข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก เข้า  ครม. 7 พ.ย. นี้ คาดใข้เงิน 10,601.96 ล้าน เงินช่วยเหลือชาวนาตันละ 1,000 บาทรอไปก่อน ธันวาคม ได้ข้อสรุป

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพื่อพิจารณา  2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ด้วยวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

โดยจะมีมาตรการดังนี้ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท ช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน (สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน+เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน) ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท

ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉางด้วย  (เริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ)

และ 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567 (เริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ)

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์และเกษตรกรทั่วประเทศที่ถือเป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก จึงได้มุ่งดำเนินการยกระดับและการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้านการเงิน และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพแก่เกษตรกรและระบบสหกรณ์ ”

ส่วนเงินช่วยเหลือพี่น้องชาวนาซึ่งเป็นค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท/ไร่ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้นเดือนธันวาคมนี้

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจข้อมูลหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในวัน ที่ 7 พฤศจิกายน 2566เช่นกัร โดยต้องการให้โครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศด้วย เช่นเดียวกับลูกหนี้ ธ.ก.ส.

อีกทั้งยังจะเสนอขอชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 4.5 เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 55,038.96  ล้านบาท (แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด  10,601.96 ล้านบาท

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกคนดี จึงเห็นว่านโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรควรดูแลครอบคลุมถึงเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ภาคการเกษตร และกลุ่มเกษตรกร  ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท

โดยจะเป็นการพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จำนวน 707,213 ราย มูลหนี้รวม 88,131.33 ล้านบาท และจะขอความเห็นชอบรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรแทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2569 ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้นำเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรฯ แล้ว