อียูปรับปรุงกฎระเบียบการติดฉลากออร์แกนิก “อาหารสัตว์เลี้ยง”

Pet food

รัฐสภายุโรปเห็นชอบการปรับปรุงกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการติดฉลากออร์แกนิกสำหรับอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยง โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ประกาศลง Official Journal และกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตสินค้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตาม 6 เดือน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐสภายุโรปได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบ Regulation (EU) 2018/848 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2018 ว่าด้วยการผลิตและการติดฉลากออร์แกนิกสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งบังคับใช้กับอาหารสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยง ครอบคลุมการผลิต การรับรอง การควบคุม การตลาด และการค้ากับประเทศที่สาม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการติดฉลากอาหารออร์แกนิกสำหรับมนุษย์บริโภค

โดยกำหนดให้อาหารสัตว์เลี้ยงที่ติดฉลากออร์แกนิก จะต้องมีส่วนผสมทางการเกษตรที่เป็นออร์แกนิกอย่างน้อยร้อยละ 95 ของน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่จะต้องมีส่วนผสมทางการเกษตรทั้งหมดเป็นออร์แกนิก เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรและผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดอาหารสัตว์ออร์แกนิกได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคหาซื้ออาหารออร์แกนิกให้กับสัตว์เลี้ยงของตนได้ง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นใจต่อสุขภาพและโภชนาการของสัตว์เลี้ยงให้กับผู้บริโภคใน EU

นายรณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลี ตามลำดับ

ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2565 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง 98,594.85 ล้านบาท เป็นตลาด EU 12,890.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.07 ของมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด

และในปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง 53,903.57 ล้านบาท ส่งไปยังตลาด EU 6,099.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.32 ของมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด

ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิกของไทยเป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพและสามารถวางจำหน่ายในตลาด EU ได้ โดยผู้นำเข้าจะต้องได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานของ EU และต้องขออนุญาตนำเข้าเป็นรายกรณีก่อนการนำเข้าทุกครั้ง ซึ่งหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย อาทิ 1) สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 2) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ

4) บริษัท ไบโอ อะกริเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด 5) CUC-Control Union Certifications และ 6) ECO-ECO Cert S.A. เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไทยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาขึ้นบัญชีเป็น EU’s Third Countries List เพื่อให้ได้การรับรองว่าระบบการผลิตและการตรวจสอบของไทยมีความเทียบเท่ากับ EU และเมื่อได้รับการขึ้นบัญชีดังกล่าวแล้ว ไทยสามารถลดขั้นตอนการนำเข้าสินค้าออร์แกนิกโดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าทีละรายการจากหน่วยงานควบคุมของ EU ก่อนการนำเข้าในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกอาหารออร์แกนิกสำหรับสัตว์เลี้ยงของไทยต้องสร้างมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยเน้นคุณภาพและความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ และผู้บริโภคกลุ่ม Pet Humanization ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ เหมาะสมกับคุณภาพ

Pet food