กกพ.เคาะ 3 ทางเลือกค่าเอฟที เปิดรับฟังความเห็นขึ้นค่าไฟงวดแรกปี’67

ค่าไฟ

กกพ. เคาะ 3 ทางเลือกค่า Ft ต่ำสุด 4.65 สูงสุด 5.95 เหตุใช้หนี้ กฟผ. 95,777 ล้าน-ราคา LNG โลกขึ้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีมติให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟที (Ft) ประมาณการสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว จึงเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย แล้วเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤชกล่าวด้วยว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง โดย ปตท. และ กฟผ.นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ภายใต้โครงสร้างราคาก๊าซในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 แนวทางเป็นเพียงการนำเสนอภาระต้นทุนค่าไฟ ยังไม่ใช่ราคาค่าไฟที่แท้จริง

ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน รวมถึงต้องรอฟังภาคนโยบายว่าจะมีแนวทางสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไร โดยจะมีการรวบรวมความคิดเห็นและสรุปอีกครั้งในภายหลัง”

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย. 2567 จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทย หากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และ ม.ค.-เม.ย. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ

“อย่างไรก็ตาม กกพ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม มีความมั่นคง และเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.ยังคงเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้า LNG และลดความผันผวนของราคาพลังงาน”

นายคมกฤชกล่าวว่า การแก้ปัญหาค่าไฟแพงระยะยาว คือการทำสัญญาซื้อขาย LNG spot ระยะยาว ซึ่งจะช่วยทำให้ได้ราคา LNG ถูกกว่าการซื้อขายแบบระยะสั้น และมีความมั่นคงมากกว่า รวมถึงภาครัฐควรเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (gas plan) โดยเร็ว เพื่อปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามด้วยว่าจะมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติรายใหม่เพิ่มเติมอีกหรือไม่

ซึ่งจะช่วยทำให้ลดต้นทุนการนำเข้า ทว่าจากข้อมูลโควตาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 3 ล้านตันของปี 2566 พบว่ายังไม่มีเจ้าใดนำเข้า ยกเว้น กฟผ.