มิตรผล-คาร์เปทฯ ชู BCG คว้า PM’s Award 2023

“Prime Minister’s Export Award 2023” รางวัลเกียรติยศสูงสุด และเป็นรางวัลเชิดชูผู้ประกอบการไทยที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อพัฒนาสินค้า และบริการให้มีคุณภาพในมาตรฐานในทุกมิติ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

มีประเภทรางวัลทั้งหมด 7 สาขารางวัล ได้แก่ 1) รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม (Best Exporter) 2) รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) 3) รางวัลธุรกิจ BCG ส่งออกยอดเยี่ยม (Best BCG Exporter) 4) รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) 5) รางวัลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม (Best Service Enterprise) 6) รางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) และ 7) รางวัลสินค้าฮาลาลยอดเยี่ยม (Best Halal)

ในปี 2566 นี้มีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีสาขารางวัลใหม่อย่างรางวัล Best BCG Exporter ที่ปรับจากรางวัลสินค้าส่งเสริมนวัตกรรมยอดเยี่ยม (Best Innovation) เพื่อให้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่าง Bio Circular-Green Economy Model

The Carpet Market ยกระดับพรม ชู BCG

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ที่ได้รับรางวัลธุรกิจส่งออก BCG ส่งออกยอดเยี่ยม (Best BCG Exporter)

โดยมี บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะในปีแรก จากผลงานการรังสรรค์ขวดพลาสติกใช้แล้วที่ถูกทิ้งลงทะเลให้กลายเป็นพรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจเดิม ทั้งยังสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พร้อมสานต่อภูมิปัญญาไทยด้านการทอ

นางสาวอัชฌพร ไกรตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เราเป็นโรงงานทำพรมมามากกว่า 40 ปี แต่เราต้องพัฒนาตัวให้เป็นมากกว่าพรมให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นแค่โรงงานพรมไปตลอด ดังนั้น จึงนำอินโนเวชั่นต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างที่ผ่านมา ในช่วงโควิดเราก็ได้พัฒนาพรมที่ผสานกับซิงก์นาโนที่ทำลายเชื้อไวรัสได้ด้วย

นอกจากนี้ เรายังมีพรมที่ up cycling จากขวดพลาสติกที่ร่วมกับพันธมิตรในไทยในการเก็บขวดพลาสติก โรงงานแปรรูปขวดพลาสติกให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์เพื่อนำมาทำเป็นเส้นด้านสำหรับทอพรม รวมถึงใช้แรงงานไทย เรียกว่าตลอดกระบวนการผลิตพรมของเราสามารถพูดได้เต็มว่า เป็นสินค้า Made in Thailand 100%

ปัจจุบันเราเน้นส่งออกให้ตลาดยุโรปและสหรัฐ ที่เป็นระดับ high-end market เป็นหลัก โดยเน้นไปที่ luxury brand เช่น Louis Vuitton Fendi และ Versace เป็นต้น แต่ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราเริ่มที่จะเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น โดยเราจะเข้าหาบริษัทอินทีเรียร์และโครงการบ้านจัดสรรที่เป็น ultra luxury รวมถึงโรงแรมเครือต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ตลาดเราในไทยค่อนข้างนอก นอกจากนี้เราก็จะตีตลาดโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเริ่มมีธุรกิจและโรงแรมที่เป็น luxury เพิ่มมากขึ้น โดยจะขยายไปทางประเทศเพื่อนบ้านก่อน

“แต่เราก็ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยดันธุรกิจพรมไทยมากขึ้น ทั้งในด้านเงินทุนและตลาด โดยเฉพาะเรื่องตลาดที่อยากให้ทำมากกว่าแค่โรดโชว์ แต่ต้องมีการขยายผลผลักดันให้เราไปถึงฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำ business matching หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือขึ้นได้จริง”

มิตรผลคว้ารางวัล BCG ส่งออก

ด้านกลุ่มมิตรผล ผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของโลก โดย นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท และประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล รับรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น Prime Minister’s Export Award 2023 ประเภทรางวัลธุรกิจ BCG ส่งออกยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 จากการดำเนินงานของอุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้หลัก BCG จากผลผลิตทางการเกษตร ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ตั้งแต่โรงงานน้ำตาล ซึ่งหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่เหลือจากกระบวนการผลิต สู่การผลิตพลังงานทดแทน (renewable energy) ประเภทไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล การผลิตปุ๋ยคุณภาพสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2050 พร้อมร่วมสร้างคุณค่าที่สมดุลให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Absolute Plant พลิกโควิด เป็นโอกาส

ด้าน ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกลเบิลฟูดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ได้รับรางวัลสาขา Best Exporter กล่าวว่า ก่อนที่เราจะเริ่มมาทำธุรกิจ absolute plant ซึ่งเป็น plant based เราอยู่ในธุรกิจส่งออกผักผลไม้ยาวนานเกือบ 40 ปี แต่เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด เป็นช่วงที่เราค่อนข้างว่างจึงหันกลับมาพัฒนาที่เรามีอยู่อย่างผักผลไม้จนมีมูลค่าเพิ่ม

โดยเราได้นำ pain point ของคนที่กินมังสวิรัติที่ต้องการสารอาหาร โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่ส่วนมากมีอยู่ในเนื้อสัตว์มาเป็นโจทย์ ดังนั้นจึงเลือกใช้วัตถุดิบจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน เพราะพืชแต่ละตัวมีกรดอะมิโนที่เฉพาะแตกต่างกัน เช่น หอยจ๊อปูเป็นอีกหนึ่งสินค้าขายดี ผลิตจากขนุน ซึ่งนอกจากผู้บริโภคได้สารอาหารที่หลากหลาย ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ของไทยได้อีกด้วย

ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ
ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ

ปัจจุบันมีเราเน้นส่งออกไปในประเทศแถบยุโรปเป็นหลัก คิดเป็นประมาณ 50% ของการส่งออก plant based ทั้งหมด เพราะกระแสการบริโภค plant based ในตลาดยุโรปค่อนข้างบูม นอกจากนี้ยังมีการขายในประเทศผ่านห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเพื่อสุขภาพ ส่วนการส่งออกผักผลไม้ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเรา ตลาดหลักจะอยู่ที่ทางสหรัฐ ประมาณ 35%

“ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ลดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ในกลุ่มลูกค้าของเราพบว่า ปีก่อนหน้ามีการสต๊อกสินค้าค่อนข้างมาก เนื่องจากโควิด-19 ระบาดและค่าเดินระวางเรือที่ค่อนข้างสูง ทำให้ยอดส่งออกในปีก่อนเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่การส่งออกปีนี้ก็เริ่มกลับมาหลังจากที่ลูกค้าเริ่มระบายสต๊อก ทว่าอาจจะไม่สูงเท่าปีก่อน แต่ภาพโดยรวมของตลาด plant based ก็ยังสามารถขายได้เรื่อย ๆ รวมถึงในอนาคตเราก็เตรียมจะเจาะตลาดกลุ่ม CLMV อย่างเวียดนาม กัมพูชา ลาว ด้วยเหมือนกัน”

Grinny ขนมก็เป็น Soft Power

อีกหนึ่งผู้ชนะรางวัลในสาขา Best Exporter ด้วยขนมขบเคี้ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลไม้ไทย “Grinny (กรินนี่)” นางสาวอภิญญา สิระนาท ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เติมเนเตอร์ อินดัสตรี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นโรงงานผลิตขนมจากธัญพืชอบกรอบ หรือผลไม้ไทยอย่างมะม่วง ทุเรียนมาแปรรูป ซึ่งโรงงานของเราจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ดังระดับโลกหลายเจ้า ที่ตอนนี้มีการส่งออกไปมากกว่า 30 กว่าประเทศทั่วโลก และอีกส่วนคือการผลิตสินค้าแบรนด์ของตัวเอง (OBM) อย่างแบรนด์ Grinny ซึ่งเป็นขนมอบกรอบ ทั้งขนมสำหรับเด็ก (baby snack) และขนมที่ทำจากข้าวไทย

อภิญญา สิระนาท
อภิญญา สิระนาท

โดยสินค้าที่เป็นขนมสำหรับเด็ก (baby snack) จะเน้นส่งออกไปทางออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นหลัก ส่วนขนมที่ทำจากข้าวไทยจะเน้นส่งออกที่จีนและสหรัฐ ซึ่งยอดส่งออกของปีนี้โตขึ้น 70-80% จากปีก่อน

นอกจากนี้ยังเล็งขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หรือประเทศในเอเชียที่ไกลกว่าอาเซียน โดยจะชูข้าวไทยเป็นจุดขายที่ไม่ว่าประเทศไหนก็สู้เราไม่ได้ เพราะข้าวไทยช่วยเสริมรสชาติและเนื้อสัมผัสของขนมให้ชนะเลิศ ประกอบกับการนำผลไม้พื้นถิ่นไทย อาทิ มะม่วง ลิ้นจี่ ทุเรียน มาประยุกต์เป็นสอดไส้

“เราก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจขนมเพราะยังมีโอกาสทางตลาดอีกเยอะ ผ่านการจัดโครงการจับคู่ทางธุรกิจที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าตัวจริงของเราทั้งในและต่างประเทศ และโปรโมตสินค้าขนมเพราะสินค้าเหล่านี้คือ soft power หมดเลย จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในอุตสาหกรรมขนมที่ก็ถือว่าเป็นจุดขายหลักของไทยในฐานะครัวโลก”