ส่งออกไทยปี’67 พ้นจุดต่ำสุด ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังรุกตลาด

ส่งออกไทย
ภาพจาก : freepik

นับเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เรียกประชุม “ทีมไทยแลนด์” มอบนโยบายในการประชุมเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เพื่อขับเคลื่อนการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว หวังผลักดันจีดีพีประเทศให้สูงขึ้นในปี 2567 พร้อมฝ่าวิกฤตทั้งภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม อัตราเงินเฟ้อ และความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน

เร่งขยายการค้า ดัน 10 ตลาดส่งออก

หากโฟกัสเฉพาะด้านการส่งออกซึ่งคิดเป็นรายได้ 70-75% ของจีดีพี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแม่งานได้นำทูตพาณิชย์ทั่วโลกนำเสนอแผนงานการส่งออกต่อนายกรัฐมนตรี โดยมี นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นผู้ฉายภาพทิศทางการส่งออกไทยในปีหน้า

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เห็นพ้องต้องเร่งขยายการค้า และดึงดูดการลงทุนจาก 10 ประเทศเป้าหมาย ประกอบด้วย สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้

ตารางส่งออกไทย

โดยกระทรวงพาณิชย์วางยุทธศาสตร์ 5 แนวทาง คือ 1.ขยายโอกาสทางการค้า ทั้งกระจายตลาด หาหุ้นส่วนธุรกิจและแหล่งวัตถุดิบ 2.ผลักดันการใช้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เดิม และเพิ่มการเจรจา FTA กับประเทศเป้าหมายใหม่ 3.ผลักดัน Soft Power อาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม ภาพยนตร์ ซีรีส์ และใช้อินฟลูเอนเซอร์ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าและบริการไทย

4.เพิ่มประสิทธิภาพการค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู้ความท้าทายและกติกาใหม่ของโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5.ส่งเสริมช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มและดิจิทัลช่วยผู้ประกอบการไทย ในการผลักดันนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า 7C ประกอบด้วย 1.Common Goal สร้างความร่วมมือกันของทีมไทยแลนด์ 2.Customer-centric ให้ความสำคัญกับลูกค้า 3.Cocreation ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมในประเทศและนอกประเทศ

4.Cooperation สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนและทุกภาคส่วน 5.Connectivity เชื่อมโยงทุกส่วนทั้งใน-นอกประเทศและระหว่างประเทศ 6.Care การค้ากับประเทศต่าง ๆ ใช้ความเป็นไทย เน้น Soft Power 7.Can Do ทีมไทยแลนด์ทุกคนต้องมีความคิดว่า “ต้องทำได้”

กิจกรรมรุกตลาด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เป้าหมายการส่งออกปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 0-2% จากปีนี้ที่มองว่าจะมีโอกาส 1.99% โดยปัจจัยสำคัญ หากสถานการณ์สงครามไม่แย่ลงหรือบานปลายไปมากกว่านี้ ซึ่งกรมเตรียมส่งเสริมการส่งออกไว้ 417 กิจกรรม

หากโฟกัส 10 ประเทศ เช่น สหรัฐ มุ่งขับเคลื่อนเจรจาภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (ทิฟา) บุกตลาดเมืองรอง เจาะตลาดสินค้าบีซีจี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ Amazon เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-กลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบีย เป็นสมาชิกด้วย เชื่อมโยงโอกาสการค้าของไทยเข้ากับวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุฯ โดยเน้นสินค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบริการ รวมถึงแรงงานไทย พร้อมมีแนวคิดจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่เมืองริยาด จากปัจจุบันมีอยู่แล้วในเมืองเจดดาห์ เพื่อรองรับการเจาะตลาด

ส่วนแอฟริกาใต้ เร่งกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนเสนอให้บันทึกความเข้าใจกับเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองการค้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน สินค้าไทยที่มีศักยภาพส่งออก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

สอดคล้องกับ นางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ปี 2567 จะขยายตัว 
2.7% การค้าโลกขยายตัว 3.2% จากปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ตลาดส่งออกไทยขยายตัว 3.8% เชื่อว่าภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเร่งจัดทำ FTA เพื่อเป็นเครื่องมือการค้า และต้องติดตามการวางกฎระเบียบทางการค้า มาตรการสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM ขณะที่ภาคการลงทุน ประเด็นเรื่องความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 จะมีผลต่อการลงทุน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังมีระดับสูง รวมถึงข้อจำกัดการดำเนินการนโยบายด้านปัญหาภัยแล้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การขาดแคลนแรงงาน อัตราค่าแรงที่สูงขึ้น ค่าพลังงาน ค่าเงินบาท ทั้งหมดนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม

ภาคเอกชนมั่นใจส่งออกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

ขณะที่ภาคเอกชน “ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก วิเคราะห์ส่งออกปีมังกร 2567 ว่า จะเติบโตที่ 1-2% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะติดลบ 1.5-1% ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวสูง สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส รวมถึงสงครามการค้าจีนและสหรัฐที่อาจรุนแรงขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกัดที่จะทยอยออกมา กฎระเบียบทางการค้าแบบใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญ เป็นความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการกันต่อไป

ส่วนปัจจัยภายในเรื่องแรงงานและค่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ลดการใช้แรงงานคนลง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังต้องติดตาม

แต่สิ่งที่ไม่น่าห่วงในปีหน้าคือ ค่าระวางเรือไม่มีปัญหาแน่นอน ตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอ ทำให้ปัจจัยกระทบด้านโลจิสติกส์ไม่มีปัญหาแล้ว มีเพียงการหาทางทำให้การส่งออกสินค้าของไทยขายให้ได้มากที่สุด ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนระดับ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันไม่น่าจะผันผวนมากนัก อยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่สถานการณ์ความขัดแย้งของอิสราเอลและปาเลนไตน์ต้องไม่ขยายวงไปมากกว่านี้

แบงก์จับตาปัจจัยเสี่ยง

นายกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้บริหารส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่าไทยต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงการส่งออกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

“ปีหน้าเศรษฐกิจจีน สหรัฐ ยุโรป อินเดีย มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการค้าและมีผลกระทบต่อการซื้อขาย ซึ่ง ธสน.พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ว่า จะเกี่ยวโยงด้านการเงินในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าดอกเบี้ยและนโยบายรัฐจะเริ่มปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศยังคงอยู่ จะเกี่ยวข้องกับมาตรการทางการค้า โดยความขัดแย้งระหว่างประเทศยังไม่จบ ทั้งรัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงผันผวนในทิศทางขาขึ้น

“มองว่าการส่งออกไทยจะเป็นบวก แม้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะทรง ๆ จากปัญหาส่งออกไทย เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโจทย์เศรษฐกิจโลกที่ยากขึ้น เพื่อลดผลกระทบและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ”

รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าเกษตรที่ต้องดูใกล้ชิด จะเห็นว่าหลายประเทศต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้