ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 60.9 สูงสุดในรอบ 45 เดือน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีคงามเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2566 ปรับตัวดีขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2566 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค. 2563 แต่โดยรวมยังมีปัจจัยลบทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงคราม เงินเฟ้อ การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักซึมทั้งประเทศ หวั่นเกิดภาวะเงินฝืด เร่งรัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง

และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค สะท้อนให้เห็นภาพว่าขณะนี้การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ซึมทั้งประเทศ เพราะมันมีหลายปัจจัยลบ

“GDP ปีนี้ ทางหอการค้าฯ ยังไม่มีการปรับตัวเลข หรือโตอยู่ที่ 3-3.5% เราก็ประเมินไว้ที่ 3% ต้น ๆ หากเรื่องการลงทุน การท่องเที่ยวเป็นไปตามคาด และเรื่องการเบิกจ่ายของรัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2567 เพราะมันจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในทุกโครงการ ถ้างบประมาณมันเดินไปตามกรอบก็จะเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจเราโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ เราจะยังไม่ประเมินปีหน้าว่าจะโตเท่าไร

แต่ถ้ามองตอนนี้คือเศรษฐกิจมีความน่ากังวล เห็นได้จากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีรายได้ในอนาคตก็ไม่ดี มันเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจซึม มีหลายอย่างกำลังบ่งชี้ว่าเงินกำลังฝืด รัฐต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงปลายปี และไตรมาส 1/2567”

ซึ่งหากดูเฉพาะผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ โดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน มีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีคงามเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2566 ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 55.1, 57.6 และ 69.9 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 54.5, 57.0 และ 69.2 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ที่ปรับตัวจากระดับ 60.2 เป็น 60.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 45 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีคงามเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2566 ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และอิสราเอลกับฮามาสในปาเลสไตน์อาจยืดเยื้อ

ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากระดับ 44.0 เป็น 44.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 68.0 มาอยู่ที่ระดับ 68.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลใหม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้