หัวมันสดราคาพุ่งโลละ 3 บาท ของขาดตลาด-ระวังมันเส้นเขมรทะลัก

ชอร์ตซัพพลาย ส.การค้ามันสำปะหลัง ชี้พลาดรับอานิสงส์ส่งออกมันเส้นตลาดจีนราคาพุ่ง หลังจีนขึ้นภาษีนำเข้าเอทานอลสหรัฐ ดันราคาแอลกอฮอล์ดีด หวั่นชาวไร่ไทยเสียโอกาสราคาดีด กก.ละ 3 บาท ไม่มีของ ต้องนำเข้าเพิ่ม 8-10 ล้านตัน จี้รัฐคุมคุณภาพนำเข้ามันเพื่อนบ้าน

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีจีนประกาศขึ้นภาษีเอทานอลนำเข้าจาก 15% จากเดิม 30% เพื่อตอบโต้สหรัฐ ประกอบกับนโยบายรัฐบาลจีนให้เพิ่มการผลิตเอทานอล โดยวางเป้าหมายว่าในปี 2020 จะใช้เอทานอลมากขึ้น อาจทำให้ปริมาณข้าวโพดที่ปลูกได้ 200 กว่าล้านตันไม่เพียงพอจนต้องนำเข้าอีก 30 กว่าล้านตัน จึงส่งผลให้ราคาเอทานอลจากข้าวโพดปรับสูงขึ้น และดึงราคาเอทานอลจากมันเส้นปรับขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจุบันโรงงานเอทานอลจีนที่ปรับปรุงเครื่องจักรมาใช้มันสำปะหลังอย่างเดียวมีถึงปีละ 6-7 ล้านตันมันเส้น

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาส่งออกมันเส้นปรับขึ้นที่ตันละ 250 เหรียญสหรัฐ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคา 150 เหรียญสหรัฐ ด้วยปรากฏการณ์ราคาที่ปรับสูงมากอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้นำเข้าจีนต้องชะลอการนำเข้าชั่วคราวจึงจะเห็นว่ายอดส่งออกมันสำปะหลังในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปริมาณ 1.92 ล้านตัน ลดลง 0.8% จากปีก่อน

“ราคาฟอร์ไพรซ์ที่เคยกำหนดปีก่อนไม่ต้องใช้เลยแต่คงไม่ยกเลิก แต่คงจะเปลี่ยนเป็นราคาแนะนำในการซื้อขายว่าตลาดควรจะเดินไปอย่างไร เพราะอย่างไรก็ต้องดูแลเค้า ค่าบาทถ้าไทยอ่อนค่ากว่านี้ราคาสูงกว่านี้”

ขณะที่ซัพพลายผลผลิตมันสำปะหลังปีนี้ลดลงไม่เป็นไปตามคาดการณ์ โดยผลผลิตนับตั้งแต่ตุลาคม 2560 ถึง กันยายน 2561 มีปริมาณไม่ถึง 24-25 ล้านตัน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าปี 2560/2561 จะมีหัวมัน 28 ล้านตัน (เป็นตัวเลขที่ลดลงจากฤดูที่แล้วปี 2559/2560 ที่มีผลผลิต 30 ล้านตัน) หรืออาจจะเรียกได้ว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาด

“ขณะนี้ไม่มีของที่จะขายเลยทำให้ราคาตลาดกระโดดขึ้นค่อนข้างมาก ราคาหัวมันปรับขึ้นมาอยู่ที่ กก.ละ 3 บาทจากปีก่อน 1.50 บาท แต่เกษตรกรขุดเกือบหมดแล้วไม่ได้อะไร ผลผลิตลดน้อยลงเพราะขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว ลายพื้นที่ลดการปลูกมันสำปะหลังไปปลูกอ้อย เช่น จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกว่าจะย้อนกลับมาปลูกมันสำปะหลังต้องใช้เวลา 2-3 ปี ส่วนเกษตรกรที่เหลือปลูกอยู่ก็ไม่เอาใจใส่ ทั้งยังมีโรคพุ่มแจ้ระบาดอีก”

ดังนั้น แนวโน้มปีนี้ไทยต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภาพรวมปริมาณ 40 ล้านตันต่อปี ผลิตได้เฉลี่ย 28-30 ล้านตันต่อปี เท่ากับต้องนำเข้า 8-10 ล้านตันต่อปี ในรูปแบบมันเส้น และหัวมัน

นายบุญชัย กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมกังวลและต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแล คุณภาพมันสำปะหลังที่นำเข้าจากเพื่อนบ้านซึ่งต่างจากไทย ระดับความชื้นสูงกว่าไทย เช่น มันเส้นไทยความชื้น 14% มันเส้นเพื่อนบ้านความชื้น 20% ต่างกัน 6% แต่คิดเป็นราคาถูกกว่ากันกก.ละ 1 บาท ทำให้มันเส้นไทยขายไม่ได้

“ผู้ส่งออกที่เป็นบริษัทจีนซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนการส่งออกถึงประมาณ 50% ของการส่งออกทั้งหมด นิยมใช้สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ซืื้อมันเส้นไทย จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ช่วยดูแลปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้า ควบคู่กับการดูแลมาตรฐานสินค้าด้วย เพราะข้อจำกัดที่ผ่านมา สมาคมไม่สามารถกำกับดูแลบริษัทที่ซื้อสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปส่งออกได้ เพราะแม้ว่าตามระเบียบเรื่องการส่งออกกำหนดให้บริษัทส่งออกต้องเป็นสมาชิกสมาคม แต่ในทางปฏิบัติทำได้ลำบาก เพราะมีสมาคมที่เกี่ยวข้อง 3-4 สมาคม ถึงจะไม่อยู่สมาคมนี้ก็ย้ายไปอยู่สมาคมอื่นได้”

อย่างไรก็ตาม สมาคมคาดการณ์ภาพรวมการส่งออกมันเส้นจะมีปริมาณ 4.8 ล้านตัน ลดไป 28% จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 6.6 ล้านตัน ด้านมูลค่า ลดลง 17% จากปีก่อน ส่วนแป้งมันปีนี้คาดว่าจะส่งออก 3.3 ล้านตัน ลดลง 20% จากปี 2560 ส่งออก 4.14 ล้านตัน มูลค่าลดลง 8% โดยหลังจากนี้อีก 2 เดือนจะมีการจัดคณะสำรวจผลผลิตอีกครั้ง และอาจจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ใหม่

สำหรับตลาดส่งออก แม้ว่าตลาดหลังยังเป็นจีน (เป็นตลาดส่งออกมันเส้น 100% เป็นตลาดส่งออกแป้งมันสัดส่วน 50-60% ไปจีนที่เหลือเป็นตลาดอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป ตลาดไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น) แต่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามนำเข้าไปหาตลาดใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับไว้ เช่น ตุรกี สำหรับมันอัดเม็ดและกากอัดเม็ดเดือนพฤษภาคมมีจัดประชุมเรื่องอาหารสัตว์ เลยจะชวนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปคุยให้เค้าฟังว่า เลี้ยงสัตว์แล้วดีอย่างไรตลาดเกาหลีก็มี ใช้กากเป็นหลัก แต่ดูราคา นิวซีแลนด์ก็ใช้เยอะแต่ราคาสูง ส่วนอินเดียน่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกแป้งมัน ญี่ปุ่นใช้มันเม็ดแต่ปริมาณไม่มากนัก ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ไทยยังมีการผลิตเอทานอล ซึ่งใช้หัวมัน 2 ล้านตันต่อปีต่อเนื่อง ไม่มีการขยายตัว เช่นเดียวกับกลุ่มอาหารสัตว์ก็ไม่ขยายตัว เพราะที่ผ่านมามีทั้งข้าวโพด ข้าวสาลีถูกเข้ามา