สาเหตุฝุ่น PM 2.5 ใช้อีวีช่วยได้จริงไหม

Tesla
ภาพโดย Yves Herman/REUTERS

ส่องสาเหตุฝุ่น PM 2.5 ภาคขนส่ง ไทยเร่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถอีวีดันยอดจดทะเบียนอีวี 9 เดือน ปี 2566 พุ่ง 7.3 หมื่นคัน โตเกือบ 400%

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 ในสัปดาห์นี้ มองไปทางไหนก็พบแต่ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง มีพื้นที่ที่ตรวจสอบพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานจนส่งผลต่อสุขภาพในหลายจังหวัด

PM 2.5 ปัญหาโลกต้องเร่งรับมืออย่างเร่งด่วน

สาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จาก รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ภาคขนส่งเป็นสาเหตุหลักหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมาจากการเผาผลาญไม่สมบูรณ์ในเครื่องยนต์รถสันดาป โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่เป็นรถเก่าและไม่ได้รับการปรับปรุง

ดังนั้นการแก้ปัญหา PM 2.5 ในภาคขนส่ง ในระยะยาวจึงต้องมุ่งไปที่การยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง อาทิ การใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 (Euro 5) ซึ่งประเทศไทยเองก็จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ หรืออีกแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร นั้นคือการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ตามข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ในปี 2565 ระบุว่า ภาคพลังงานมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด รองลงมาคือ ภาคขนส่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20.7%

โดยรถยนต์มีสัดส่วนการปล่อยพลังงานมากที่สุดที่ 48% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่งทำให้หลายประเทศผลักดันเพื่อเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ควบคู่กับการใช้พลังงานสะอาดก่อนที่จะสายเกินแก้

นโยบายไทยหนุนตลาดอีวีโต

โฟกัสที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่อีวี ด้วยนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (แพ็กเกจอีวี) ที่ให้สิทธิประโยชน์ ทั้งด้านภาษีสรรพสามิต การลดอากรขาเข้า เงินอุดหนุน

ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จที่มีอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของจีนที่เข้าเสริมห่วงโซ่อุปทานให้อุตสาหกรรมอีวีของไทย ทำให้ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะผู้เล่นคนสำคัญอีกรายหนึ่งของตลาดอีวีโลก

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี มูลค่ารวมกว่า 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นอกจากนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยก็ได้มีหลายค่ายรถยนต์ดำเนินการผลิตแล้ว อาทิ ค่ายรถยุโรปอย่าง Mercedes-Benz ที่เริ่มผลิตรถยนต์รุ่น EQS รวมถึงในปีหน้าจะมีค่ายรถอีวีจีนเข้ามาเสริมทัพอีก 7 ราย ได้แก่ BYD Changan Aion Great Wall Motors (GWM) MG Foton และ NETA

อีวีไทยโตกว่าคาด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista Market Insights ได้ประเมินไว้เมื่อปี 2022 ว่า ตลาดอีวีในประเทศไทยจะสามารถสร้างรายได้จากยอดขายได้ถึง 1,052 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2566-2571 อยู่ที่ 5.02% ต่อปี ซึ่งคาดว่าในปี 2571 จะมีปริมาณการขายอยู่ที่ 1,344 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณการว่ายอดขายอีวีในตลาดไทยจะแตะที่ 27,320 คัน ในปี 2571

ด้วยความนิยมการใช้รถยนต์อีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มติชน รายงานข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ระบุว่า สถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 73,341 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 58,645 คัน หรือเพิ่มขึ้น 399.05% เมื่อเทียบกับจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2565 ที่จำนวน 14,696 คัน ยิ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดอีวีไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งกว่าที่โลกคาดการณ์ไว้

สุดท้ายอีวีอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างถาวรและยั่งยืน ควบคู่ไปกับยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่ง ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพ และดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าในประเทศ

ดังนั้น อีวีอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่จะเป็น Solution สู่อนาคตของคนไทยทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ