“ปล่อยคาร์บอน” ต้องแจ้ง มิติใหม่รายงานบนแพลตฟอร์ม CFO

ฝุ่นพีเอ็ม

ฝุ่น PM 2.5 กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายจังหวัด สะท้อนว่าไทยต้องหันมาดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัว ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลกต้องปรับตัวก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

แม้จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากเพียง 0.88% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ตามข้อมูลของ World Economic Forum แต่ทว่าไทยกลับเป็นอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

ลุ้นร่างกฎหมายใหม่ Q1/67

ล่าสุดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. และอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะได้เห็นร่างฉบับแรกภายในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ การควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม การจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก

แต่ในช่วงสุญญากาศนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ก็ได้จัดทำแพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร หรือ Carbon Footprint for Organization Platform หรือ CFO Platform เพื่อส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ระดับองค์กรเพิ่มขึ้น

และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้ตั้งไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ครั้งที่ 26 ว่า จะเป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608

รายงานการปล่อยคาร์บอน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO กล่าวว่า อบก.จัดทำ CFO Platform เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในแต่ละกระบวนการผลิต การใช้พลังงาน ตลอดจนวัตถุดิบที่ซื้อในห่วงโซ่อุปทาน

การพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบดิจิทัลจะช่วยลดความซับซ้อนและสะดวกสบายขึ้นเหมาะกับภาคเอกชนที่ต้องการประเมินตัวเอง ทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มนี้ส่งให้กับหน่วยงานตรวจสอบเพื่อรับรองตัวเองได้

“หลายองค์กร โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญกับการรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นอกจากสนใจเรื่องผลกำไรแล้ว ยังสนใจอีกด้วยว่าแต่ละองค์กรที่เขาจะเข้าไปลงทุนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด CFO Platform เป็นเหมือนเครื่องมือวัดความดันที่ช่วยให้รู้ว่าบริษัทเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าใด”

อย่างไรก็ตาม CFO Platform เป็นเรื่องของความสมัครใจ จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เพราะหากไม่มีการปรับตัวจะกระทบเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐก็จะยิ่งมีปัญหาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันให้ลูกค้าที่เลือกซื้อสินค้าจากเรา และในอนาคตเริ่มขยับมาเป็นเรื่องการปล่อยเงินกู้

หอการค้าหนุนเอกชนปรับตัว

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนต้องปรับตัว เพราะตอนนี้กติกาต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มตื่นมีกฎบังคับใช้ให้รายงาน อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment หรือ CBAM) ที่หากเราไม่ทำตาม ก็ต้องเสียค่าปรับ ดังนั้น เราต้องปรับตัวไปให้ไวมากที่สุด

โดยตอนนี้ทางหอการค้าพยายามแจ้งข้อมูลข่าวสารให้สมาชิกทราบ แต่บริษัทรายย่อยที่อาจจะขาดแคลนทั้งข้อมูลและทุนทรัพย์ หอการค้าจึงแบ่งความช่วยเหลือเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งกระบวนการผลิต ตลอดจนยานยนต์เป็นพลังงานสะอาด ต่อมาเปลี่ยนการใช้พลังงานให้เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

และสุดท้ายคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากซัพพลายเออร์และลูกค้าต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องพลังงานสะอาดกันมากขึ้น

ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน จะเริ่มเห็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวกันมากขึ้น อย่างการหันไปขนส่งโดยใช้รถอีวี หรือปรับแพ็กเกจจิ้ง ลดการใช้ถุงพลาสติก รวมไปถึงลงทุนใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ การสร้างอาคารที่ต้องคิดให้ประหยัดพลังงาน

กำหนด “วาระแห่งชาติ”

นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลควรวางมาตรการโดยกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุน ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดให้มีการทำธุรกิจเสรี มีการแข่งขันการผลิตไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล การใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุน เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนทั่วไปในการเปลี่ยนผ่าน และสนับสนุนการผลิตสินค้ารักษ์โลก

“รัฐสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มากกว่าเดิม มีการเปิดทำธุรกิจอย่างเสรี แก้กฎข้อบังคับบางอย่างที่ทำให้ติดขัดและขับเคลื่อนช้าซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ หากทำให้การเข้าถึงไฟฟ้าสีเขียวทำได้ง่าย และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทำให้ราคาไฟฟ้าสีเขียวมีราคาถูกลงตามหลักของอุปสงค์และอุปทาน อยากให้ปรับสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้น”

และสุดท้ายคือวาระแห่งชาติ คือต้องระบุเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจน นอกจากนี้ ควรมีมาตรการเรื่องของภาษี และลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มสินค้ารักษ์โลก ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 1,000 บริษัท ที่สนใจเข้าร่วมติดฉลากสินค้ารักษ์โลก

ส.อ.ท. หนุนพลังงานหมุนเวียน

ด้าน นายนที สิทธิประศาสสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว คือ การใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยมลพิษ (low emissions technology) เข้ามาช่วยในระยะยาว

อย่างไรก็ตามก็ยังติดปัญหาเรื่องของเงินทุน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ในช่วงแรกเกิดกลไกการตลาดอย่างการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากราคาของคาร์บอนเครดิตยังคงมีราคาสูงขึ้นจะถึงจุดที่ตลาดอิ่มตัวและทุกธุรกิจจะหันมาสนใจเรื่องของ low emissions technology กันมากขึ้น

“ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมที่จะเดิน ภาครัฐก็ต้องตื่นได้แล้ว เพราะใน COP 28 ที่ผ่านมานั้น ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอีกเป็น 2 เท่าตัวภายในปี 2573 ขณะที่แผนพลังงานชาติของประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่กำกวมและไม่ชัดเจน”

อีกสิ่งที่สำคัญที่ภาครัฐควรเร่งทำคือ การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในกิจการพลังงานและไฟฟ้าที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี ในอนาคตกรมสรรพสามิตจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาบริโภคไฟฟ้าสีเขียวกันมากขึ้น โดยเก็บจากเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า นั่นหมายความว่า ค่าไฟจะแพงขึ้น

และสุดท้าย เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างไร หากเราไม่มีทางเลือกอื่นให้ ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าราคาถูกจากที่อื่นได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะคิดภาษีคาร์บอนได้นั้นจะต้องเปิดเสรีไฟฟ้าเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ว ระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการพลังงานและไฟฟ้าก็จะกลายเป็นอุปสรรคชิ้นโตให้กับภาคธุรกิจและภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว