“มิตซูบิชิ พาวเวอร์” ผนึกพันธมิตร ลุยไฮโดรเจนปี’67

อะกิฮิโระ ออนโดะ
สัมภาษณ์พิเศษ

ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2511 มิตซูบิชิ พาวเวอร์ มีบทบาทสำคัญในการเติบโตด้านพลังงานของประเทศไทย โดยได้ร่วมพัฒนาโครงสร้างการผลิตพลังงานมากกว่า 25 จิกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ตลอดจนระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงทั่วประเทศไว้ด้วยกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายอะกิฮิโระ ออนโดะ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก บริษัทด้านพลังงานในเครือของ Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. (MHI) นำเสนอโซลูชั่นด้านพลังงานทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มุ่งเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

โซลูชั่นสู่ Net Zero

เนื่องจากมิตซูบิชิ พาวเวอร์ มีเป้าหมายมุ่งสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2583 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยและสหประชาชาติกำหนดไว้ 10 ปี ทำให้เราพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อหาโซลูชั่นด้านพลังงานที่รุดหน้ายิ่งกว่า ดังนั้นไฮโดรเจนจึงกลายเป็นหนทางแห่งอนาคตอันยั่งยืนที่จะพาเราก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้

ปัจจุบัน มิตซูบิชิ พาวเวอร์ กำลังทดสอบห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตไฮโดรเจน การจัดเก็บ ตลอดจนการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจนและแอมโมเนียในโครงการทากาซาโงะ ไฮโดรเจน พาร์ค เมืองทากาซาโงะ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ โดยเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า

เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายต่อให้กับบริษัทที่ดูแลด้านนี้ ซึ่งเราประสบความสำเร็จในการทดสอบผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงผสมไฮโดรเจน 30% ในกังหันก๊าซระบายความร้อนด้วยอากาศรุ่น J-series Air-Cooled (JAC) เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 65% เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และคาดว่าจะสามารถใช้พลังงานไฮโดรเจน 100% ในการผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2573

โซลูชั่นที่เหมาะกับไทย

“สำหรับประเทศไทย เราเตรียมที่จะนำประโยชน์และความรู้ที่ได้จากการทดสอบโครงการไฮโดรเจน มาผนวกเข้ากับการศึกษาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่ทำร่วมกับพันธมิตรในไทย คาดว่าในปี 2567 จะได้เห็นความร่วมมือเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น”

แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกล้วนมีความแตกต่างกัน อย่างประเทศไทยก็ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานพื้นฐานซึ่งคิดเป็นมากกว่า 60% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ แตกต่างจากประเทศอื่นที่ส่วนใหญ่ยังใช้พลังงานถ่านหิน

อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าและการจัดหาพลังงานทดแทนล้วนอยู่ภายใต้การบริหารจัดการอันแข็งแกร่งของรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้เราในฐานะภาคเอกชนสามารถคาดการณ์ถึงแผนการใช้พลังงานในอนาคตของไทย

ซึ่งส่วนใหญ่ก็เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะแผนการทำงานร่วมกับภาครัฐในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 มิตซูบิชิ พาวเวอร์จึงได้อาศัยเทคโนโลยีอย่างกังหันก๊าซ (gas turbines) ที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจนได้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต

นอกจากนี้เรายังมองอีกว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซจะเป็นทางออก ในการเปลี่ยนผ่านไปใช้เชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นไปได้จริงมากที่สุด ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของประเทศไทย

“เราสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็นำเสนอพลังงานหมุนเวียน อาทิ การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้มีความยืดหยุ่น และยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งยังปรับปรุงให้สามารถใช้พลังงานสะอาดแบบใหม่ อย่างไฮโดรเจน เพื่อกักเก็บพลังงานหมุนเวียนในระยะยาว

รวมถึงในอนาคต อาจจะนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานระดับสูง (Advanced Clean Energy Storage หรือ ACES) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System หรือ BESS) เข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับพันธมิตร”

โครงการในไทยที่เริ่มแล้ว

มิตซูบิชิ พาวเวอร์มีเป้าหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ Net Zero ผ่านการทำงานร่วมกับบริษัทท้องถิ่นหลายโครงการ อย่าง ล่าสุดเมื่อตุลาคม 2566 บริษัทเพิ่งประสบความสำเร็จในการติดตั้งกังหันลมรุ่น M701 JAC เครื่องที่ 6 จาก 8 เครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (GTCC) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง กัลฟ์ กรุ๊ป และบริษัท มิตซุย แอนด์ โค จำกัด จังหวัดระยองและชลบุรี เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งการติดตั้งครั้งนี้นับว่าต้องเผชิญกับความท้าทายที่ต้องติดตั้งให้ทันภายในระยะเวลาสัญญา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากติดตั้งครบทั้ง 8 เครื่องแล้วจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ครบทั้งหมดได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567

นอกจากนี้ยังร่วมหาโซลูชั่นด้านไฮโดรเจน ผ่านโครงการศึกษาการใช้แอมโมเนียในโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี (BLCP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ของไทย รวมถึงบริษัทแม่อย่าง MHI ยังทำงานร่วมกับเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งเรื่องการผลิตพลังงานสะอาด ไฮโดรเจน ตลอดจนเทคโนโลยีอย่างการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)

อีกทั้งยังร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ศึกษาการใช้ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยี CCS เพื่อพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนโรดแมปของประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593

“มิตซูบิชิจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติมาสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทย และอีกเป้าหมายคือ การเป็นซัพพลายระบบผลิตพลังงานให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าของเราในภูมิภาค ทั้งการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ปรับปรุงหรือแม้แต่ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม โดยทำงานร่วมกับ กฟผ. ใน EGAT Diamond Service (EDS)

ซึ่งเป็นธุรกิจบริการซ่อมแซมเครื่องกังหันก๊าซ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่จะใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ว่าจะสามารถเข้าถึงโซลูชั่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อเป็นฐานสำหรับขยายบริการไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในฐานะที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาค

เรามุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมโซลูชั่นการผลิตพลังงานที่รักษาสมดุลระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับ 3 ด้านเสาหลักพลังงานอย่าง ความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และราคาจับต้องได้”

สิ่งที่ขาดในไทย

“แม้ประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่งด้านพลังงานไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ขาดในประเทศไทย คือ ความชัดเจนของแผนพลังงานแห่งชาติและแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าฉบับปรับปรุง เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางต่อไปในอนาคตสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งเราพร้อมจะมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ตามเป้าหมายของเราที่ต้องการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในแผนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

โดยเตรียมปรับแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าวที่รัฐบาลกำหนด ตลอดจนหารือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย”

อนาคตร่วมกับประเทศไทย

“ตอนนี้ที่ประเทศไทยกำลังเจอกับความผันผวนของค่าไฟ เป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่มีความผันแปรและขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้ความผันผวนนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่า เทคโนโลยีที่มิตซูบิชิ พาวเวอร์นำเสนออย่างกังหันก๊าซหรือโซลูชั่นเรื่องไฮโดรเจนจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพค่าไฟในประเทศไทย”

เป้าหมายหลักในระยะสั้น คือ การช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟผันผวน โดยการนำโซลูชั่นเรื่องกังหันก๊าซเข้ามาในประเทศไทย

ส่วนในระยะยาวจะเป็นเรื่องการหาเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำและเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่ามาใช้ เช่น ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนีย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดคาร์บอนของประเทศไทย เราตั้งเป้าที่จะขยายผลการศึกษาและการสาธิตที่กำลังดำเนินอยู่ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา เพื่อจะมีส่วนในการรับประกันว่า ราคาพลังงานที่ไม่แพงและมั่นคง พร้อมทั้งส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทยภายในปี 2567

ท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงพลังงานต้องใช้ความพยายามร่วมกันทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับแหล่งพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้น