พีระพันธุ์ เปิดศึกวิวาทะ ส.อ.ท. จี้กดค่าไฟ 4.20 บาท ลดต้นทุน 3 หมื่นล้าน

ค่าไฟ ค่าไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้า

อลหม่านค่าไฟลด-ราคาสินค้าต้องลง พีระพันธุ์เปิดศึกวิวาทะเอกชน ส.อ..ชี้ลดค่าไฟ 48 สตางค์ เหลือ 4.20 บาท ประหยัดต้นทุน 30,198 ล้านบาท

วันที่ 3 มกราคม 2567 ประเด็นร้อนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ยังไม่ได้ข้อสรุป กลายเป็นปัญหาโอละพ่อระหว่างภาคเอกชน กระทรวงพลังงาน

โดยในช่วงปิดปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา มีการตอบโต้กันไปมาทาง “โซเชียลมีเดีย” ระหว่างเจ้ากระทรวง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาโพสต์วันที่ 29 ธันวาคม 2566 ผ่านเฟซบุ๊ก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-Pirapan Salirathavibhaga ว่า “ลดค่าไฟ/ลดดีเซลมาหลายเดือนแล้วและต่ออีกสี่เดือน สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการในการลดราคาสินค้าให้ประชาชนอย่างไรบ้างครับ” 

แล้วทันทีที่เผยแพร่ออกไป “นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท.) ก็ตอบโต้ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ปัญหาราคาพลังงาน ค่าไฟ น้ำมัน เสนาบดีที่ดีต้องกล้าที่จะแก้ต้นตอ เพื่อความยั่งยืน ไม่ลูบหน้าปะจมูก หรือเฉไฉ สนุกมากหรือครับ!?! ที่ประชาชาชนต้องคอยลุ้นระทึกทุก 4 เดือน” 

คนไทยจ่ายค่า Ft ปี’66 ไปเท่าไหร่แล้ว

ประเด็นร้อนข้างต้น “ประชาชาติธุรกิจ” มัดรวมสรุปดังกล่าว ย้อนไปถึงสถานการณ์ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่คนไทยต้องลุ้นตลอดปี 2566 สรุปแล้วทั้ง 3 งวดมีการปรับขึ้นมาเฉลี่ย 68.36 สตางค์ต่อหน่วย

โดยงวดมกราคม-เมษายน 2566 ปรับ 2 ราคาสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยมีค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ อาทิ โรงแรม โรงงาน มีค่า Ft อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย  

ส่วนงวด 2 ระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ปรับลดลง 91.19 สตางค์ต่อหน่วย และงวดที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ปรับลดลงมาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหลือ 20.48 สตางค์ต่อหน่วย

แม้ค่า Ft จะไม่เพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม การที่คนไทยต้องคอยมานั่งลุ้นทุก 4 เดือนว่าค่าไฟจะขึ้นหรือลง แถมภาคเอกชนต้องมาคอยจี้ให้รัฐหนุนค่าไฟอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้ไทยพลาดโอกาสทองที่จะดึงนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาค่า Ft ผันผวนมาจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกที่สุด ยังไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย หลังจากเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทาน ทำให้ไทยต้องหันนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยเป็นการนำเข้าด้วยสัญญาจร (LNG SPOT) ซึ่งทำให้ไทยต้องแบกต้นทุนราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน

กระทั่งมาถึงค่า Ft งวดล่าสุดเดือนมกราคม-เมษายนของปี 2567 เดิมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีบทสรุปให้ปรับขึ้นค่า Ft 89.55 สตางค์ต่อหน่วย รวมแล้วจะคิดเป็นค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย

โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 มีมติให้ปรับลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟทั่วไป ให้ต่ำกว่า 4.20 บาท โดยให้ ปตท.นำเงินชอร์ตฟอล 4,300 ล้านบาท มาช่วยเป็นส่วนลดค่าไฟ ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปปรับลดลงมาต่ำกว่า 4.20 บาท โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืดภาระการแบกหนี้ 1 แสนกว่าล้านต่อไปอีก 

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมายังไร้ข้อสรุปเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรีตอบเพียงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขอเวลาในการพิจารณาอีกสักพักหนึ่ง

บทสรุป ค่าไฟ-ต้นทุนสินค้า

ในฟากฝั่งกระทรวงพลังงานย้ำชัดว่า ได้ดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงไว้คือ การปรับลดต้นทุนด้านพลังงานให้ภาคเอกชนแล้ว แต่เอกชนชี้ว่า หากค่าไฟงวด มกราคมเมษายน 2567 ลดลง 48 สตางค์ต่อหน่วย จาก 4.68 เหลือ 4.20 บาท จะทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน (Cost Saving) ได้ จะคิดเป็นเงินถึง 30,198 ล้านบาท

โดยเอกชนอธิบายว่า มีโอกาสที่ต้นทุนค่าไฟจะลดลงไปได้ต่ำกว่า 4.10 บาท จากสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดโลกล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 อยู่ที่ 11.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลง 0.22% หรือ 0.025 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับวันที่ 29 ธันวาคม 2566 

แน่นอนว่า “ราคาสินค้าควบคุม” จะลดลงหรือไม่ ผูกโยงกับต้นทุนค่าไฟและพลังงาน แต่จะลดลงมากเพียงใดต้องเทียบระหว่างต้นทุนของปี 2565 และต้นปี 2567 

ที่สำคัญบทบาทภาครัฐระดับนโยบาย และภาคเอกชนที่มีกลไกตลาดแข่งขันเสรีเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วทำไมต้องมาลุ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน โดยตั้งคำถามว่า เราจะเป็นอย่างไร ถ้าวันนี้มีเหตุให้ราคาตลาดโลก LNG ทะลุ 20 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย 

สิ่งหนึ่งที่นายอิศเรศสะท้อนมาตลอดคือ รัฐบาลควรแยกประเด็นการแก้ปัญหาค่าไฟ ออกจากการแก้ปัญหาสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยควรวางแนวทาง “ออกพันธบัตรรัฐบาล” เพื่อมาช่วยแก้หนี้ กฟผ.

และควรมองถึงแนวทางแก้ปัญหาเรื่องอุปทานส่วนเกิน (ไฟฟ้าล้นระบบ) โดยเสนอให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมยืดเวลา อีกทั้งควรเพิ่มอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าด้วยการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ส่งเสริมและปลดล็อกพลังงานสะอาด อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้สามารถเข้าถึงได้และเป็นธรรม สุดท้ายคือ การเสนอปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และที่สำคัญคือ การสร้างกลไกในการแก้ปัญหาด้วยการสร้างคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อมาขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว 

อดีต รมว.คลังหนุนช่วย กฟผ.

ซึ่งข้อเสนอเอกชนดังกล่าวได้รับการตอบรับจาก “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ที่ชี้ว่าการเปลี่ยนหนี้ของ กฟผ.ไปเป็นพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยประหยัดอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้จะได้ผลในการลดภาระ กฟผ. โดยจำนวนเงินที่ประหยัดไม่มากนัก ก็เป็นข้อเสนอที่ควรดำเนินการ ถ้ารัฐบาลไม่ติดปัญหากฎหมาย

ทว่าประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือ ต้องไม่ให้ กฟผ.รับภาระขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต กฟผ.ต้องเลิกขบวนการซื้อแพง ขายถูก และปล่อยให้ตนเองเป็นหนี้ล้นพ้นตัว ถึงเวลาที่รัฐบาลของท่านนายกฯ เศรษฐาจะแก้ปัญหาโครงสร้าง เพราะมีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม นายธีระชัยยังเห็นแย้งในบางเรื่อง อย่างข้อเสนอให้ปิโตรเคมี ต้องซื้อก๊าซในราคาเดียวกับโรงไฟฟ้า เพราะปิโตรเคมีสามารถบวกมูลค่าเพิ่มเข้าไปในต้นทุนก๊าซอย่างมาก มีกำไรมากอยู่แล้ว ประกอบกับคู่แข่งในประเทศอื่นหลายรายก็ซื้อก๊าซในราคาตลาดโลก

ดังนั้น ปิโตรเคมีจึงอยู่ในฐานะที่ควรจะรับภาระซื้อก๊าซในราคาตลาดโลกได้ จึงควรปรับนโยบายให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซในต้นทุนเท่ากับตลาดโลก มิใช่เพียงแค่ขยับราคาขึ้นเท่ากับราคาที่ขายให้แก่โรงไฟฟ้า

“ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP ซื้อก๊าซในราคาถูกลง เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ควรจะรื้อการกำหนดลำดับสิทธิในการใช้ก๊าซผลิตจากอ่าวไทย โดยให้ประโยชน์แก่ประชาชนครัวเรือนอย่างเต็มที่ก่อนผู้ใช้รายอื่น แล้วถ้ายังเหลือก๊าซผลิตในอ่าวไทย ก็ให้ขายให้แก่โรงไฟฟ้าทุกราย ในราคาเท่ากัน ถ้าโรงไฟฟ้าเอกชนมีก๊าซไม่พอใช้ก็ต้องนำเข้า LNG กันเอง จึงขอให้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงข้อเสนอของคนพูดเอาเท่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง”

ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องรอบทสรุปว่า “อัตราค่าไฟฟ้ารอบแรกมกราคม-เมษายน 2567 จะมีบทสรุปอย่างไร และนโยบายกระทรวงพลังงานหลังจากผ่านพ้นการคำนวณค่าไฟฟ้างวดนี้ไปแล้ว จะมีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร เพื่อไม่ให้ต้องมานั่งลุ้นงวดต่องวดอีก