เปิดไฮไลต์ ผอ. FAO เยือนไทยชม “บางกะเจ้า-ตลาดไท-พิพิธภัณฑ์ดิน-จุฬาฯ” 

การเดินทางเยือนประเทศไทยของนายฉู ตงหยู (Mr.Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ระหว่างวันที่ 8 มกราคมถึงวันที่ 10 มกราคม 2567 นอกเหนือจากการเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

นายฉู ตงหยู ยังมีกำหนดการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญด้าน Food System Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านระบบบริหารจัดการอาหาร ซึ่งเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับวิกฤตโลกรวนที่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ในอนาคต วันนี้ (8 มกราคม 2566) “ประชาชาติธุรกิจ” มาเปิดลายแทง เดินทางตามรอยนายฉู ตงหยู ทั่วกรุงแบบ Food System Transformation

“บางกะเจ้า” ปอดกรุงเทพฯ

เมืองคนเมืองต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ทำให้อากาศสะอาดเป็นเรื่องหายาก แต่ที่ “คุ้งบางกะเจ้า” ซึ่งถือเป็นปอดของกรุงเทพฯกำลังช่วยฟอกอาหารให้คนกรุงอยู่ โดยคุ้งบางกะเจ้า ตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกิดจากการตวัดโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีลักษณะคล้ายกับรูปกระเพาะหมู ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่มีระบบนิเวศป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ท่ามกลางเมืองกรุงจนได้ชื่อว่าปอดสีเขียวแห่งกรุงเทพฯ รวมถึงได้รับการยกย่องว่าเป็น The Best Urban Oasis of Asia ในปี 2549 จากนิตยสาร Time Asia ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้และกรุงเทพมหานคร

“ตลาดไท” เจ้าใหญ่ในอาเซียน

จากพื้นที่ว่างเปล่าในปี 2538 กว่า 500 ไร่ จังหวัดปทุมธานีบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้า ที่ประกอบด้วยตลาดส้ม ตลาดผลไม้รวม ลานผลไม้ฤดูกาล ตลาดพืชไร่ ตลาดผัก ลานผัก ตลาดค้าปลีก ตลาดไม้ ตลาดไม้ประดับและกิ่งพันธุ์ไม้ ตลาดผลไม้นานาชาติ เปิดภายใต้ชื่อ “ตลาดไท” ซึ่งตลาดขายส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตลาดไท

นอกจากนี้ ไม่ไกลจากกันยังมีศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมงของกรมประมง ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการตรวจสอบและติดตามเรือประมง ตามความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Agreement on port state measures to prevent, deter and eliminate illegal, unreported and unregulated fishing หรือ PSMA)

อยากรู้เรื่องดินต้องมาพิพิธภัณฑ์ดิน”

อยากรู้เรื่องดินต้องเดินชม “พิพิธภัณฑ์ดิน” ก่อตั้งโดยกรมพัฒนาที่ดิน เหมาะสำหรับเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับทรัพยากรดิน การสำรวจ จำแนกดิน สภาพปัญหาและการจัดการดินของประเทศไทยเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลก ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CESR ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2562 ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีจาก FAO

ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“ศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ” แห่งเดียวในเอเชีย-แปซิฟิก

รู้ไหมว่า ประเทศไทยมี ศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (FAO Reference Center for Antimicrobial Resistance) แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยศูนย์นี้ก่อตั้งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับวิกฤตเชื้อดื้อยาทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ผ่านการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนการเสริมความแข็งแกร่งในการเฝ้าระวังและการวิจัย ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ศูนย์กระจายตัวตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เยอรมนี เซเนกัล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และไทย