ลุ้นส่งออกไทย 2567 โต 2% สรท. ชี้ปัจจัยเสี่ยงค่าบาทแกว่ง-ค่าระวางเรือพุ่ง

ส่งออก

สรท.เผยส่งออกปี 2567 ยังเจอปัจจัยเสี่ยงกระทบเป้าส่งออก คาดโต 1-2% พร้อมหารือพาณิชย์ตั้งรับค่าระวางเรือพุ่ง แนะ 3 ทางออกในการส่งออกปีนี้ ขณะที่ส่งออกปี 2566 ติดลบ 1%

วันที่ 9 มกราคม 2567 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์ส่งออกปี 2567 โต 1-2% ส่วนการส่งออกปี 2566 คาดหดตัว 1% โดยยังมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ทั้งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea)

ชัยชาญ เจริญสุข
ชัยชาญ เจริญสุข

โดยส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น โดยในส่วนของเส้นทางยุโรปค่าระวางเรือปรับขึ้น 80-90 หรือประมาณ 1 เท่า เดิมอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อตู้ ก็ขยับขึ้นเป็น 5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ โดยในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ทาง สรท. สายเดินเรือ และกระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

นอกจากนี้ในช่วงนี้เป็นช่วงที่จีนจะส่งออกสินค้ามากเนื่องจากในเทศกาลตรุษจีนทำให้มีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ไปจีนมากขึ้นเพื่อรองรับสินค้าเพื่อการส่งออก ดังนั้นการหมุนเวียนตู้ก็จะลดลงและอาจล่าช้า แต่จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังวันที่ 10 ก.พ.สถานการณ์ก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า (ธันวาคม 2566 ที่ 3.99 บาท กรอบใหม่ 4.68 บาท) และค่าแรงขั้นต่ำ (ครม. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2-16 บาท) ค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

“ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบภัยแล้งที่จะเข้ามาซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นไป ถือเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งที่จะต้องทำให้การส่งออกของไทยตามเป้าโต 1-2% ให้ได้ ซึ่งในเดือน ม.ค.นี้ คาดว่าส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวได้ 0-1% ส่วนไตรมาสแรกจะขยายตัวเท่าไรขอประเมินในเดือน ก.พ.ก่อน”

อย่างไรก็ดี สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) จากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลาโดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนทางอ้อมและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

2) เพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก

3) สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่เติบโต ภาครัฐต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs รวมไปถึงงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น