FAO องค์กรด้านเกษตรระดับโลก ไทยร่วมมือได้อย่างไร

เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์
เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดที่มาและความสำคัญ FAO องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พร้อมจะยกระดับความร่วมมือ และพัฒนาภาคเกษตรของไทย

วันที่ 16 มกราคม 2567 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวใน Live Facebook รายการ “อัพเดท เกษตรนำ” หัวข้อ : ยกระดับความร่วมมือไทย-FAO เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) เป็นองค์การชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2488 (ค.ศ. 1945)

มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ปัจจุบันมีสมาชิก 197 ประเทศ 1 องค์กร (EU) และ 2 สมาชิกสมทบ (Faroe Islands และ Tokelau) วัตถุประสงค์ ที่จัดตั้งก็เพื่อยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้น ด้วยความพยายามทุกวิถีทางที่จะพิชิตความยากจน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการผลิตและการจัดสรรผลิตผลการเกษตรของโลกให้สูงขึ้น ปรับปรุงสภาวะของชนบทให้ดีขึ้น และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เพื่อให้มนุษยชาติพ้นจากความหิวโหย

หน้าที่หลัก

สำหรับหน้าที่สำคัญของ FAO

  1. สนับสนุนและส่งเสริมประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาและการดำเนินงาน การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ ข้อตกลงระดับชาติ ระเบียบปฏิบัติ มาตรฐานทางวิชาการและอื่น ๆ
  2. รวบรวม วิเคราะห์ ติดตาม และปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความชำนาญของ FAO
  3. ส่งเสริม กระตุ้น และช่วยเหลือให้เกิดการหารือขึ้นทั้งในระดับสากล ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค
  4. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
  5. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการรวบรวมข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล การเพิ่มเติมความรู้ใหม่ ๆ ตามที่ FAO มีความชำนาญ
  6. สนับสนุนความร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ เกษตรกรรม และการพัฒนาพื้นที่ชนบท ระหว่างรัฐบาล หุ้นส่วนการพัฒนา ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
  7. เป็นตัวแทนและผู้ประสานงานในระดับสากล ระดับชาติ และระดับภูมิภาค

งบประมาณและการเงิน

แหล่งเงินและงบประมาณขององค์กรได้มาจาก 2 แหล่งเงินที่สำคัญ คือ 1.รายได้จากค่าบำรุงของประเทศสมาชิก (Assessed Contributions)-โดยเก็บตามอัตรารายได้ประชาชาติ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานะของประเทศ (พัฒนาแล้ว/กำลังพัฒนา/พัฒนาน้อยที่สุด) หนี้ต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งยึดหลักวิธีการคำนวณตามสหประชาชาติ และที่ประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณ คราวละ 2 ปี (Biennium) ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละครั้ง

โดยประเทศไทยจ่ายค่าบำรุงปีละ 1,051,950.08 เหรียญสหรัฐ (36,788,272.22 บาท : อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34.97 บาท) และ 731,044.88 ยูโร (27,963,694.38 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 38.25 บาท)

2.รายได้จากการบริจาคโดยสมัครใจ (Voluntary Contributions)-เป็นรายได้ที่ประเทศสมาชิก หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ (เช่น UNDP) บริจาคโดยสมัครใจ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-FAO

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ FAO ลำดับที่ 49 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) และยังได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Office for Asia and the Pacific-RAP) ชั่วคราว เมื่อปี 2491 และเป็นสำนักงานถาวร เมื่อปี 2495 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก FAO ในภูมิภาค 44 ประเทศ (มีประเทศที่พัฒนาแล้ว 7 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา)

ปัจจุบันมีสถานที่ตั้งอยู่ที่บ้านมะลิวัลย์ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าเช่าสำนักงาน และมีนายจง จิน คิม (สัญชาติเกาหลีใต้) เป็นหัวหน้าสำนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทน เอฟ เอ โอ ประจำสำนักงานภูมิภาค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป สำนักงานมีบุคลากรรวม 121 ตำแหน่ง (Professional = 49 และ General Staff = 71) อนาคตก็คาดหวังว่าไทยจะได้เป็นหัวหน้าสำนักงานได้

กรอบความร่วมมือระหว่างไทย-FAO

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้จัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับ FAO หรือ Country Programming Framework (CPF) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินความร่วมมือของ FAO ด้านการพัฒนาการเกษตรของไทย โดยระหว่างปี 2560-2564 มีโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการลดการสูญเสียและของเสียระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวกล้วย ตลอดห่วงโซ่การแปรรูปกล้วย
  2. โครงการเสริมสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืน
  3. โครงการการจัดการผลกระทบการรุกล้ำของน้ำเค็มต่อการดูดซึมสารอาหารและการเจริญเติบโตของกล้วยไม้
  4. โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกษตรดิจิทัลสำหรับประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19
  5. โครงการบริการด้านเทคนิคสำหรับการสำรวจข้อมูลพื้นฐานระดับชาติเรื่องการสูญเสียอาหาร (ตัวชี้วัด SDG 12.3.1.a) และการพัฒนาขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (ตัวชี้วัด SDG 2.4.1)
  6. โครงการวิเคราะห์กรอบกฎข้อบังคับและการใช้สารต้านจุลชีพ (AMU) ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  7. โครงการการพัฒนาไซร์โฮลสไตน์เขตร้อนโดยใช้เทคโนโลยีจีโนม

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2565-2569 ได้อนุมัติโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือแล้ว จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการพัฒนาวิสาหกิจป่าไม้ในชุมชน
  2. โครงการบริการด้านเทคนิคเพื่อจัดทำแผนแม่บทบูรณาการสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
  3. โครงการสนับสนุนการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาร์บอนต่ำ Support to development of low-carbon aquaculture

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีความร่วมมือทางด้านอาหารและเกษตรอย่างเข้มแข็งกับ FAO ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมในทุกมิติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจาก FAO ทั้งในรูปแบบการดำเนินโครงการทางวิชาการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ในการพัฒนาทรัพยากรเพื่อการเกษตร การมีโอกาสในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ FAO ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐของไทย ที่ได้รับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับสากลในสาขาต่าง ๆ

การเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทย จากการจ้างงานบุคลากรคนไทย และเป็นแหล่งฝึกอบรม ประชุม สัมมนา และการใช้จ่ายของผู้แทนจากต่างประเทศที่เดินทางมาประชุมที่ประเทศไทย ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลวิชาการได้สะดวกและใกล้ชิดกว่า ทำให้เกิดการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพ