วิกฤตทะเลแดงพ่นพิษ จับตา “ราคาเบนซิน” หลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษี 31 ม.ค. 67

ราคาน้ำมัน น้ำมัน น้ำมันขึ้นราคา ขึ้นราคาน้ำมัน

“เบนซิน” ถือว่าเป็นหนึ่งในน้ำมันพื้นฐานของเศรษฐกิจ ทำให้การขึ้นราคาน้ำมันเพียงไม่กี่สตางค์ก็กระทบไปทั่วทุกภาคส่วน ทั้งภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนค่าครองชีพของประชาชน

นโยบายลดค่าน้ำมันจึงเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทว่ามาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 แล้วอย่างนี้ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางวิกฤตโลก

จับตาสัปดาห์หน้ากองทุนหนุน “เบนซิน” กี่บาท

รายงานข่าววันที่ 26 มกราคม 2567 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังมาตรการปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินลง 1 บาทของกรมสรรพสามิตหมดอายุลงสิ้นเดือนนี้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานจะเข้ามาอุดราคา 1 บาทที่หายไปผ่านการใช้เงินของกองทุนน้ำมันฯ ที่เราเรียกเก็บมาชดเชย เพื่อไม่ให้กระชากราคาขายปลีกขึ้นไป ก็ต้องดูศักยภาพของกองทุนน้ำมันฯด้วยว่าเรามีกำลังพอหรือไม่ รวมถึงถ้าช่วยแล้วช่วยได้เท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเป็น 1 บาทเท่าเดิมหรือน้อยกว่าก็ได้ ต้องรอมติของที่ประชุม กบน.ในต้นสัปดาห์หน้า

ราคา “เบนซิน” กระโดด 7 ดอลลาร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวอีกด้วยว่า ตอนนี้ราคาเบนซินกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยดูจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 อยู่ที่ 95.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาปัจจุบัน ณ วันที่ 26 มกราคม 2567 ราคาน้ำมันดีดขึ้นไปถึง 102.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งพอมาคำนวณเป็นบาทก็เป็นจำนวนที่เยอะประมาณ 1 บาทกว่า สังเกตได้จากที่ผ่านมา สถานีบริการน้ำมันในไทยได้ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2567 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 รวมทั้งสิ้นมีการปรับราคาทั้งหมด 4 ครั้ง รวม 1.60 บาท

ด้วยเหตุนี้ทำให้แก๊สโซฮอล์ 95 จากเดิมที่ 35.55 บาทต่อลิตร ขยับขึ้นมาเป็น 38.85 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91 จาก 33.78 บาทต่อลิตร ขึ้นมาอยู่ที่ 35.08 บาทต่อลิตร อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะขึ้นต่อไปอีก ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดูว่า สาเหตุมาจากอะไร และก็พบว่าเป็นปัญหามาจาก “ทะเลแดง”

photo by REUTERS

เปิดปัจจัยน้ำมันแพง พิษ “ทะเลแดง”

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกด้วยว่า ตอนนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องน้ำมันขาด แต่ของจะแพงขึ้น เพราะว่าการโจมตีในทะเลแดงทำให้ต้องไปอ้อมไกลจนเกิดค่าขนส่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วงธันวาคมที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงพีกการใช้น้ำมันของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายด้าน แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นมาจากเรื่อง “ทะเลแดง”

แล้วทำไมวิกฤตทะเลแดงถึงกระทบกับราคาน้ำมัน รายงานข่าวจากบีบีซี ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มฮูตีบุกโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง บริเวณช่องแคบบาบุลมันดับที่แยกระหว่างประเทศเอริเทรียและประเทศจิบูตีทางฝั่งแอฟริกา กับประเทศเยเมนบนคาบสมุทรอาหรับ อันเป็นช่องทางขนส่งสำคัญของเรือพาณิชย์ที่ต้องการเดินทางผ่านคลองสุเอซ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการโจมตีเรือพาณิชย์อีกจำนวนมาก ทำให้บริษัทขนส่งทางเรือส่วนใหญ่หยุดใช้เส้นทางทะเลแดง ที่ซึ่งการค้าทางทะเลทั่วโลกเกือบ 15% ผ่าน แล้วเปลี่ยนมาใช้เส้นทางเดินเรืออื่นที่ไกลกว่าบริเวณแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแทน ส่งผลให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะ “น้ำมันดิบ” ปรับตัวสูงขึ้น

คลองสุเอซถือว่าเป็นเส้นทางการเดินเรือที่เร็วที่สุดที่จะเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยข้อมูลจากบริษัท Vortexa ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตลาดส่งออกพลังงาน ระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (LNG) ประมาณ 9 ล้านตันบาร์เรลต่อวัน

กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบแสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานะของกองทุนน้ำมันฯไม่ได้เกี่ยวกับ “เบนซิน” แต่โดยหลักจะเป็น “ดีเซล” มากกว่า เพราะเราใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯขับเคลื่อนทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ทำให้หากมีมาตรการตรึงราคาต่อไป หนี้ของกองทุนน้ำมันฯยังไงก็ต้องขยับเพดานไปเรื่อย ๆ

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 21 มกราคม 2567 ติดลบ 83,020 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 36,594 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 46,426 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินมีการเบิกเข้าบัญชีแล้วที่ 75,000 ล้านบาท

ที่มาภาพ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)