ปลากะพงมาเลเซียถล่มหนัก คชก. ไฟเขียวงบฯ 61 ล้าน อุ้มผู้เลี้ยงสู้วิกฤต

ปลากะพง

ปลากะพงไทยราคาต่ำต่อเนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูง ปลากะพงมาเลเซียตีตลาด ส่งผลมูลค่าลงกว่า 50% พาณิชย์เผย คชก.จัดสรรวงเงิน 61.8 ล้านบาท เชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพงปี 2567 ด้านกรมการค้าต่างประเทศ ชี้จะออกมาตรการใดจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 รายงานข่าวจากสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยระบุว่า สถานการณ์ราคาปลากะพงขาวที่เพาะเลี้ยงโดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในประเทศ ราคาตกต่ำลงต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดรวมของตลาดปลากะพงลดลงกว่า 50% จากมูลค่าการตลาดรวม 6,000 ล้านบาท เหลือเพียง 3,000 ล้านบาทต่อปี

ส่งผลกระทบให้เกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงไทย ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองต่อไปได้ ทางสมาคมต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาปลากะพงในประเทศ อาทิ การนำเข้าปลากะพงจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนการผลิตอาหารราคาสูง เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงก็มีความคาดหวังให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ การหาช่องทางในการส่งออก การยกระดับการสุ่มตรวจการนำเข้า พัฒนา และปรับปรุงสายพันธุ์ปลากะพง เป็นต้น

คชก.จัดสรรงบฯ 61.8 ล้านบาท ช่วยผู้เลี้ยงปลากะพง

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากปัญหาปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียที่มีราคาต่ำกว่าปลาของไทยประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม เข้ามาแข่งขัน โดยมาเลเซียมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทำให้ปลากะพงค้างบ่อระบายไม่ได้ ปลามีขนาดใหญ่มากขึ้น

โดยพบว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ ลดลงจาก 93 บาทต่อกิโลกรัม ลดลง 14% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาขนาด 4-9 ขีด ปลากะพงไทยอยู่ที่ 80 บาท มาเลเซียอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงของไทยอยู่ที่ 89 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนของมาเลเซียอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้จัดสรรวงเงิน 61.8 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพงปี 2567 ค่าบริหารจัดการด้านการผลิตให้เกษตรกร 30 บาทต่อกิโลกรัม และสนับสนุนค่าบริหารจัดการด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรหรือผู้รวบรวม 10 บาทต่อกิโลกรัม โดยดำเนินการระหว่างวันที่ 19 มกราคม-31 พฤษภาคม 2561 เป้าหมาย 1,500 ตัน

นอกจากนี้ จะให้มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 “ปิ้งย่างกลางกรุง by DIT @ CentralWorld” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน 2567 และครั้งที่ 2 “พาณิชย์ปิ้งย่าง @ เจียงฮาย” ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะเชื่อมโยงปลากะพงประมาณ 1,000 ตัน และจะยังจัดให้มีการประสานผู้ประกอบการห้องเย็น ห้างค้าส่ง-ค่าปลีก เชื่อมโยงรับซื้อปลากะพงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง จังหวัดสมุทรสงคราม เป้าหมาย 100 ตัน

ก่อนออกมาตร เอดี ต้องสอบข้อเท็จจริง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการอุดหนุนการทุ่มตลาด กับสินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ จะต้องพิจารณาในหลายมิติ ทั้งเรื่องของราคาสินค้าที่เข้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ส่วนกรณีปลากะพงจากมาเลเซีย การจะใช้มาตรการใดนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายด้าน เช่น การส่งออกปลากะพงจากประเทศมาเลเซียมาไทยราคาต่ำจริงหรือไม่ ตั้งใจทุ่มจริงหรือไม่ ถ้าต่ำจริงทำลายอุตสาหกรรมภายในอย่างไร พร้อมทั้งต้องหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องมีผู้ร้องเพื่อขอให้มีการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งยังไม่มีการร้อง