จุดความร้อนไทยพุ่งกว่า 1,189 จุด ขึ้นนำอันดับ 1 ในอาเซียน ป่าอนุรักษ์มากที่สุด

จุดความร้อนไทย

GISTDA รายงาน จุดความร้อนไทยพุ่งกว่า 1,189 จุด ขึ้นนำอันดับ 1 ในอาเซียน และพบในป่าอนุรักษ์มากที่สุด

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงาน

ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นนำอันดับ 1 จำนวน 1,189 จุด (นับว่าสูงสุดตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา) ตามด้วย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 947 จุด กัมพูชา 706 จุด เวียดนาม 296 จุด และ สปป.ลาว 291 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 356 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 349 จุด, พื้นที่เกษตร 212 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 148 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 113 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ #กาญจนบุรี 289 จุด

ทั้งนี้ จากการรวบรวมจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2567 พบแล้วกว่า 11,704 จุด ซึ่งคิดเป็น 31.15% โดยลดลงจากปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกันที่มีจุดความร้อนจำนวน 17,000 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10.00 น. พบว่าในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ #กาฬสินธุ์ #มุกดาหาร #ขอนแก่น #มหาสารคาม #อำนาจเจริญ #ร้อยเอ็ด #อุดรธานี #หนองบัวลำภู #ชัยภูมิ #อุบลราชธานี #ยโสธร #หนองคาย #ชัยนาท #นครพนม และ #สกลนคร อยู่ระดับสีแดงที่ส่งผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจแล้ว

ในขณะที่หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ระดับสีเขียวและสีฟ้า อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับสถานการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ ทั้งนี้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

จุดความร้อนไทย

จุดความร้อนไทย

จุดความร้อนไทย