ชำแหละจุดเสี่ยงข้าวไทยปี’67 ส่งออกพ่าย “เวียดนาม”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์การส่งออกข้าวไทยปี 2567 จะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 1 ล้านตัน ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาท คู่แข่งอย่างเวียดนามพัฒนาคุณภาพข้าวและปริมาณผลผลิตจนมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก

รวมไปถึงสถานการณ์ประเทศผู้นำเข้าที่ปรับเปลี่ยนนโยบายการนำเข้า และสต๊อกคงเหลือตลอดจนปัญหาเอลนีโญที่จะมีผลต่อการส่งออกข้าวไทย ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สถานการณ์ข้าวโลก ปี 2567

ข้อมูลผลผลิตข้าวทั่วโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวของโลก 2567 เท่ากับปีที่แล้ว 513.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.1% จากปีก่อนที่มี 513 ล้านตัน จากที่เวียดนาม 27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.2% จาก 26.9 ล้านตัน

ส่วนประเทศอื่น ๆ มีผลผลิตลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผลผลิตมากที่สุดในโลก ผลผลิตคาดว่าจะได้ 144 ล้านตัน ลดลง 0.9% จากปีก่อน 146 ล้านตัน อินเดีย 132 ล้านตัน ลดลง 2.8% จาก 135.8 ล้านตัน บังกลาเทศ 36.3 ล้านตัน ลดลง 0.1% จาก 36.4 ล้านตัน อินโดนีเซีย 33.5 ล้านตัน ลดลง 1.5% จาก 34 ล้านตัน และไทย 20 ล้านตัน ลดลง 4.4% จาก 20.9 ล้านตัน

ทั้งนี้ หากติดตามสต๊อกข้าวทั่วโลกในปี 2567 อยู่ที่ 167.2 ล้านตัน ลดลง 4.9% จาก 175.8 ล้านตัน โดยจีนยังคงมีสต๊อกมากที่สุด 102 ล้านตัน รองลงมา อินเดีย 33 ล้านตัน อินโดนีเซีย 4.6 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 3.5 ล้านตัน และไทย 3.2 ล้านตัน

แนวโน้มส่งออกข้าวไทย ปี 2567

ปี 2567 ผู้ส่งออกคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไทย จะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลง 14.4% คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยมีมูลค่าน้อยกว่าปีก่อนราว 2.8 หมื่นล้านบาท

“ไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก เท่ากับเวียดนาม คาดว่าปริมาณการส่งออก 7.5 ล้านตัน ส่วนอินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 16.5 ล้านตัน การส่งออกข้าวไทยในปีนี้จึงมีความเสี่ยงและจะต้องรักษาอันดับการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกให้ได้

และเมื่อแบ่งชนิดข้าวที่ไทยส่งออกไปในตลาดโลก ได้ดังนี้ ข้าวขาว 4.2 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ 1.4 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 1.2 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5 ล้านตัน และข้าวเหนียว 0.2 ล้านตัน

“การที่ไทยจะส่งออกข้าวไปในตลาดได้ ต้องติดตามการผลิต การส่งออกจากคู่แข่ง เพราะจะมีผลกระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศ เพราะหากราคาข้าวไทยสูงกว่าจะมีผลต่อการแข่งขันและโอกาสที่ประเทศผู้นำเข้าจะนำเข้าจากเวียดนามก็เป็นไปได้มากกว่า เมื่อดูคุณภาพข้าวของเวียดนามดีขึ้นมาก”

ส่องตลาดข้าว ปี 2567

ตลาดส่งออกตอนนี้ กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียตกลงที่จะซื้อข้าวจากไทย 2 ล้านตัน ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี นั้นยังต้องใช้เวลา ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งใช้เวลาถึง 2 เดือนกว่าจะส่งมอบได้ ส่วนการเปิดประมูลเพื่อนำเข้าข้าวของอินโดนีเซียครั้งถัดไป คาดว่าจะมีขึ้นอีกครั้งและครึ่งปีหลัง 2567

ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ในปีนี้ นโยบายภายในประเทศเปิดให้เอกชนนำเข้าโดยอิสระ โดยเสียภาษีนำเข้า 30% ดังนั้นหากผู้ส่งออกจะส่งออกข้าวเข้าฟิลิปปินส์ได้ก็จะต้องมีการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ที่เป็นตลาดสำคัญของตลาดส่งออกข้าวไทย เช่น อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย ก็ยังสามารถผลักดัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาที่จะส่งออกด้วย

ข้าวเปลือกหมื่นบาท

การส่งออกข้าวไทยเดือนแรกของปี 2567 ดูจากใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า ไทยส่งออกแล้วกว่า 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี คาดการณ์การส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าส่งออกข้าว เฉลี่ยได้เดือนละ 7.5-8 แสนตัน เพราะมีคำสั่งซื้อข้าวที่ค้างส่งจากปีก่อน แต่ช่วงไตรมาส 2 น่าเป็นห่วงเพราะผลผลิตข้าวเวียดนามจะเริ่มออก และราคายังถูกกว่าไทยมาก อาจทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลง เหลือเฉลี่ยเดือนละ 6 แสนตัน และอาจฉุดราคาข้าวเปลือก และข้าวสารภายในประเทศให้ปรับลดลงได้

แม้ไทยจะส่งออกได้ลดลง แต่เชื่อว่าภาพรวมราคาข้าวเปลือก และข้าวสารไม่น่าจะเลวร้าย โดยราคาข้าวเปลือกอาจเฉลี่ยอยู่ที่ 1 หมื่นบาท ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นบาท ไม่มาก เชื่อว่าเกษตรกรยังพอใจระดับราคาดังกล่าว

คู่แข่ง “เวียดนาม-อินเดีย”

เมื่อติดตามการส่งออกข้าวเวียดนามในปี 2566 ที่ผ่านมาได้ 8.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากจากที่ไม่เคยได้มาก่อน สาเหตุจากปีที่แล้วเวียดนามมีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา มาแปรรูปและส่งออกไปในตลาดโลก ซึ่งเวียดนามไม่ได้มีกฎหมายที่ห้ามนำเข้าข้าวแล้วนำไปส่งออก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปีที่ผ่านมาสูงมาก และผลผลิตข้าวของเวียดนามปี 2567 นี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน เท่ากับประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เวียดนามยังชนะการประมูลขายข้าว 5% ของอินโดนีเซีย กว่า 4 แสนตัน จากการประมูลทั้งสิ้น 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถานและเมียนมา และได้มีการเร่งทำสัญญาเพื่อส่งมอบแล้ว การเปิดประมูลครั้งนี้ไทยเข้าร่วม แต่ไม่สามารถประมูลแข่งขันได้ เนื่องจากราคาสู้กับคู่แข่งไม่ได้

“ราคาข้าวไทย 690 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามเสนอราคา 655 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ต่างกันถึง 30-40 เหรียญสหรัฐ และที่สำคัญ การผลิตข้าวของเวียดนามปัจจุบันได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 970 กิโลกรัม แต่ไทยผลิตได้เพียง 450 กิโลกรัมต่อไร่ ห่างกันมาก รวมทั้งเวียดนามยังมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายกว่า ตอบโจทย์คู่ค้าได้ดี”

ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานะการส่งออกข้าวของอินเดีย ที่ผ่านมามีการชะลอส่งออกข้าว และในครึ่งปีหลังนี้จะต้องติดตามนโยบายว่า อินเดียจะยกเลิกการชะลอส่งออกข้าวหรือไม่ หลังการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ หากอินเดียกลับมาจะมีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกร่วงลงมา 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามซัพพลายข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น และมีผลต่อโอกาสการส่งออกข้าวไทยด้วย

วอนรัฐอย่าให้เงินบาทผันผวน

การส่งออกข้าวจะได้ตามเป้าหมาย นอกจากปัจจัยของคู่แข่ง การขนส่ง โลจิสติกส์ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีการปรับขึ้นสูงมาก อย่างเส้นทางไปสหรัฐอเมริกา ค่าระวางเรือปรับขึ้นมาเป็น 4 เท่า จากเดิม 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เป็น 4,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เป็นต้น กระทบต่อการส่งออก

ปัญหาค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่กระทบผู้ส่งออกอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 มีการขาดทุนมากจากค่าเงินบาทที่มีความผันผวน เพราะเมื่อดูค่าเงินบาทของไทยผันผวนและสะวิงมาก ภายใน 1 วันมีการเปลี่ยนไป 0.5-0.8% หรือบางครั้งไปที่ 1% ส่งผลให้ผู้นำเข้าไม่กล้าตัดสินใจซื้อข้าวไทย และหันไปซื้อข้าวเวียดนามทดแทน เพราะมีค่าเงินที่มีเสถียรภาพกว่า รวมไปถึงค่าเงินอินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวน และเร่งพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของข้าวไทย ทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่ตลาดต้องการ ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้องทำคู่ขนานกับการพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อให้ทันกับคู่แข่งทั้งเวียดนาม และอินเดีย เพราะในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ได้ผลผลิต 800-940 กิโลกรัม/ไร่จากเดิมได้ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนตอนนี้มีผลผลิต 800-940 กก.ต่อไร่ ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว