ราคายางดิ่งใกล้หลุด 70 บาท งัดสินเชื่ออุ้มสต๊อกชะลอขาย

ยาง

ขาลงยางในประเทศ ราคาปิดตลาดสิ้นสัปดาห์ยังยันอยู่ที่ 70 บาท ใกล้หลุดลงไปที่ 69 บาท/กก.เต็มทีแล้ว หลังหมด “ข่าวดี” ที่จะมาช่วยดันราคายางขึ้น จากช่วงที่ผ่านมาที่ราคาขึ้นไปวันละ 1-2 บาท ด้าน ปธ.บอร์ดการยางรับราคายางกำลังย่อตัวลง วอนรัฐเร่งเพิ่มแรงซื้อยางเข้ามาในตลาด พร้อมขอซอฟต์โลน-ขยายโครงการสินเชื่อชะลอขายช่วยเกษตรกร

ราคาประมูลยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ยังคงตกลงติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยราคาประมูลวันนี้ (9 ก.พ. 2567) ยังคงยืนราคาอยู่ที่ 70.09 บาท/กก. จากวันก่อน (8 ก.พ.) อยู่ที่ 70.69 บาท หรือใกล้จะหลุด 70 บาท/กก.เข้าไปทุกทีแล้ว

หากติดตามราคาประมูลยางแผ่นรมควันชั้น 3 มาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ราคาได้ไต่ขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 73.39 บาท/กก. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากนั้นราคายางก็ได้ปรับลดลงมาทุกวันโดยตลอด สอดคล้องกับราคา FOB ในวันนี้อยู่ที่ 76.01 เหรียญ หรือยืนราคานี้มาครึ่งสัปดาห์ โดยราคา FOB เคยขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 78.89 เหรียญ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน

ขณะที่ราคาซื้อน้ำยางสด ณ หน้าโรงงานของสมาคมน้ำยางข้นไทย ในวันนี้ยังคงยืนอยู่ที่ 65.50 บาท/กก. โดยเป็นการยืนราคาอยู่ที่ 65 บาท มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เช่นกัน ส่วนราคาขายน้ำยางข้น FOB กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กพ.อยู่ที่ 1,421 เหรียญ/ตัน ราคา FOB เฉลี่ยอยู่ที่ 1,415.25 เหรียญ/ตัน

จากการสอบถามสหกรณ์การยางและสถาบันเกษตรกรหลายแห่งให้ความเห็นถึงทิศทางราคายางต่อจากนี้ไปว่า กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคายางสูงขึ้นในประเทศ ตลาดเป็นที่รับรู้กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนยางจากสถานการณ์น้ำท่วม ฝนตกหนัก กรีดไม่ได้ การเกิดโรคระบาด การปิดกรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนการลักลอบนำยางจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ราคายางที่ผ่านมาสูง “ผิดปกติ” หรือขึ้นวันละ 1-2 บาท/กก. ติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน

“ตอนนี้กำลังจับตาดูว่า ราคายางจะลดลงในช่วงสั้น ๆ แล้วดีดตัวขึ้นหลังตรุษจีนได้หรือไม่ หากในสัปดาห์หน้าราคายางยังลงต่อเนื่องก็มีแนวโน้มว่า ราคาจะปรับตัวลงมาต่ำกว่า 70 บาท/กก. แต่ยังไม่รู้ว่าจะลงไปลึกเท่าไหร่”

ด้าน ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวถึงการค้า-ขายยางว่า ราคายางเป็น “ราคากลาง” คนที่รับซื้อคือ โรงงาน “เขาซื้อจากทุกคน” เพราะฉะนั้นเรื่องการเก็บยางเกษตรกรสามารถที่จะเก็บเองก็ได้ถ้ามีกำลังมากพอ ซึ่งในอดีตเกษตรกรจะเก็บยางไว้เอง แต่ปัจจุบันนี้ไม่นิยมเก็บสต๊อกแล้ว “ส่วนการซื้อก็ยังเป็นปกติเหมือนในอดีต ใครมียางพ่อค้าไม่จำเป็นต้องปั่นราคามาซื้อจากนายทุนที่เก็บยางมันคนละเรื่องกัน คนที่สต๊อกยางไว้เยอะเขาก็ต้องรับความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่ายางจะขึ้นหรือลง แสดงว่าคนที่พูดเขาไม่รู้เรื่องยางหรอก คิดเอาเอง” ดร.เพิกกล่าว

สำหรับสถานการณ์ราคายางที่ราคา “ย่อตัวลง” ขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการ คือ การเพิ่มแรงซื้อ โดยการจัดทำซอฟต์โลน สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาปล่อยสินเชื่อ โดยรัฐสนับสนุน ดอกเบี้ยไม่เกิน 3% คู่ขนานไปกับการเข้มงวดดำเนินการกับขบวนการยางเถื่อน

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางเบื้องต้นว่า จะมีการปรับลดลง 20% ซึ่งเป็นผลจากเกษตรกรปิดกรีดเร็วขึ้น จากเดิมปลายเดือนกุมภาพันธ์มาเป็นเดือนมกราคม ผลพวงจากภาวะเอลนีโญ บวกกับสถานการณ์ปัญหาโรคใบร่วงและการเพิ่มความเข้มงวดในการจับขบวนการลักลอบนำเข้ายางเถื่อน ซึ่งทำให้ปริมาณยางลดลงสวนทางกับความต้องการใช้ยางที่ยังเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้สถานการณ์ยางในปีนี้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่จะย่อตัวลงในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้

อย่างไรตาม ปริมาณการสต๊อกยางในส่วนของเกษตรกรนั้น ทาง กยท.มีการขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายยางในปีนี้ต่อ โดยเข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกร 80% เช่น สหกรณ์หนึ่งต้องการรับซื้อยาง 1 ล้านบาท ทาง กยท.สนับสนุน 800,000 บาท เพื่อให้นำไปจ่ายเกษตรกรก่อน “แล้วสต๊อกไว้” เพื่อรอจังหวะราคาที่เหมาะสมจึงค่อยขายออก โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องขายผ่าน ตลาดกลางยาง ของ กยท.ทั้ง 8 แห่ง เพื่อจะขับเคลื่อนไปสู่การสร้าง “ราคาอ้างอิง” ยางในประเทศไทยในอนาคต