GGC กางกลยุทธ์ปี’67 ขยายพอร์ต ธุรกิจใหม่ปั๊ม EBITDA โต 50% ปี’73

GGC กางกลยุทธ์ปี'67

ปีทอง GGC กางยุทธศาสตร์ปี 2567 หนุน 3 Portfolio ขยายโอกาสธุรกิจ ลุยธุรกิจใหม่สร้าง High Value Product ปล่อยแบรนด์ “Nutralist” ทำตลาด ตั้งเป้าขยาย EBITDA ธุรกิจใหม่ 50% ในปี 73 พร้อมวอนรัฐหนุนเพิ่มเอทานอลในไบโอดีเซล ช่วยเกษตรกร-เปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทเตรียมเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business : Execution for Success ผ่านการดำเนินการตาม 3 กลยุทธ์หลัก คือ เข้มแข็ง เติบโต ยั่งยืน

ตั้งเป้าปรับ Portfolio ลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจ Bioenergy, Biochemicals และ Food Ingredients & Pharmaceutical ให้มีความชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับความท้าทายและสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนด้วยการต่อยอดธุรกิจเดิมสู่การเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (High Value Product) โดยวางแผนขยายพอร์ตสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ทั้งหมดให้มากกว่า 50% ในปี 2573

อีกทั้งในปี 2567 ตั้งเป้า Ajusted EBIDA อยู่ที่ 800 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2566 พร้อมตั้งเป้าที่จะขยาย EBITDA ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท โดยภาพรวมยอดขายทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของธุรกิจหลัก (Core Business) ในปี 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 450,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเมทิลเอสเทอร์ (ME) หรือไบโอ 100 อยู่ที่ 300,000 ตัน ขณะที่แฟตตี้แอลกอฮอล์​ (FA) อยู่ที่ 100,000 ตัน และกลีเซอรีนที่ 40,000 ตัน และมีเงินที่พร้อมลงทุนเพิ่มเติมในปัจจุบันอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bioenergy Business) อาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ โครงการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้และการปรับแผนธุรกิจเพื่อรองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันพืชใช้แล้วจำนวน 20,000 ตันต่อเดือน จากปริมาณในตลาดที่มีอยู่ 80,000 ตันต่อเดือน

“คาดว่าจะดำเนินการระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืนจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการทางตลาดภายในปี 2568 ด้วยกำลังผลิต 4,800 ตันต่อปี หรือเฉลี่ย 4,000 ตันต่อเดือน เพื่อทดลองตลาดก่อน เนื่องจากคำนวณความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืนในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1% จาก 15 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 ในปี 2569”

อีกทั้งยังมีโครงการ ATJ ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2573 ขณะที่โครงการ Green Methanol ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายไปตลาด marine biofuel และเดินหน้าเป้าหมาย decarbonization

ส่วนธุรกิจเคมีชีวภาพ (Bio chemical Business) ขยายกลุ่มธุรกิจแฟตตี้แอลกฮอล์ และกลุ่ม Oleochemical Specialty and Derivatives เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Biosovent รวมถึงขยายกำลังการผลิตของบริษัท ไทย อีทอกซีเลท จำกัด (TEX) ที่ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เพิ่มอีก 50,000 ตัน

โดยจะนำแฟตตี้แอลกฮอล์บางส่วนไปทำเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Food ingredients and Pharmaceutical เพื่อต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม (Value added) ในกลุ่มเครื่องสำอาง คาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

อีกทั้งกลุ่มธุรกิจสุดท้าย คือ ธุรกิจ Food ingredients and Pharmaceutical : ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ (New Business) ล่าสุดของ GGC ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น Green Product เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการมีสุขภาพดีภายใต้แบรนด์ “Nutralist” ที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 2 ตัว ได้แก่ Astaxanthin ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อ และ Probiotic ช่วยเรื่องการย่อยอาหาร

เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงเทรนด์สินค้า Lifestyle ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical ไว้ที่ 10% ของ EBITDA หรือคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท ภายในปี 2569 และในปี 2573 ขยายอีกเป็น 20%

“บริษัทได้เสนอให้กระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลลงไปในน้ำมันไบโอดีเซล จากเดิมที่ บี7 แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาจนถึงบี 30 เพราะเอทานอลผลิตจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกปาล์มที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกรองอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งการเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอลในไบโอดีเซล

นอกจากจะช่วยเกษตรกรแล้ว ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากการเปลี่ยนมาสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างเต็มรูปแบบต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี และรถยนต์ขนาดใหญ่ อาทิ รถบรรทุก ไม่สามารถใช้อีวีได้เพราะต้องใช้แบตเตอร์รี่จำนวนมหาศาล ทำให้การใช้ไบโอดีเซลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากพลังงานไฮโดรเจนที่มีราคาแพงและยังอยู่ระหว่างการศึกษา” นายกฤษฎากล่าว

นอกจากนี้ การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development) บริษัทมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจาก Decarbonization อีกทั้งยังตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 ที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20%

โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,422 tCO2eq ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 928 tCO2eq และสำหรับปี 2567 บริษัทมีโครงการ Biogas ซึ่งตั้งเป้าหมาย ดังนี้ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6,000 tCO2eq 2.ประหยัดค่าดำเนินการผลิตลง 8.5 ล้านบาท และ 3.ลดการใช้น้ำเสีย 7,500 ตัน