น้ำเสียโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จุดเปลี่ยนตลาดอาหารทะเลจีน ไทยคว้ามาร์เก็ตแชร์มากขึ้น

ผ่านมา 12 ปี แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ และสึนามิยังไม่จางหายจากเกาะฮอนชูซึ่งเป็นที่ตั้ง “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ”

สึนามิครั้งนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับ “ตลาดอาหารทะเลโลก” ในฐานะที่ “ฟูกูชิมะ” เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมพรั่งไปด้วยอุตสาหกรรมประมงส่งป้อนตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และหลายประเทศในเอเชีย

แต่ด้วยเหตุที่กระบวนการบำบัดและปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเลเมื่อปี 2566 สร้างกระแสความกังวลเรื่องความปลอดภัยอาหารทะเลให้กับผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะ “ตลาดจีน” ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักได้ประกาศชะลอการนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น เพราะเกรงผลกระทบจากสารกัมตภาพรังสีที่อาจปนเปื้อนออกมา

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะออกโรงชี้แจงว่ามีมาตรการความปลอดภัยระดับสากลในการบำบัดน้ำเสียมากเพียงใด แต่ก็ยังไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปะนี หรือเทปโก (TEPCO) ยังคงเดินหน้าปล่อยน้ำที่บำบัดต่อเนื่องเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ปล่อยมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2566

ส่วนแบ่งตลาดญี่ปุ่นลดลง

สมาคมสหกรณ์การประมงในญี่ปุ่น 80.6% ได้รับผลกระทบจากที่จีนชะลอนำเข้า เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา “ส่วนแบ่งตลาดอาหารทะเลญี่ปุ่น” ในตลาดจีน “ลดลง” โดยในปี 2022 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของจีน มีสัดส่วนราว 3% จากยอดนำเข้าทั้งหมด แต่มาถึงปี 2023 ญี่ปุ่นกลายเป็นอันดับที่ 16 มีสัดส่วนลดลงเหลือ 1.6%

เช่นเดียวกับอาหารทะเลแปรรูปญี่ปุ่น ปี 2022 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของจีน มีสัดส่วนราว 19% จากยอดนำเข้าทั้งหมด แต่ปรากฏว่าปี 2023 ญี่ปุ่นกลับมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 10%

อาหารทะเลส่งออก

ผลสะท้อนต่อประเทศไทย

ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองถึงโอกาสในด้านการส่งออกอาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ฉายภาพว่า กรณีนี้มีผลต่อไทย 3 ด้าน คือ ผู้บริโภคไทยและร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยอาจเกิดความกังวล และชะลอการบริโภคอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปชั่วคราวบ้าง แต่ไทยมีมาตรการการตรวจสอบ และรับรองเข้มข้น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งไทยมีการนำเข้าอาหารทะเลจากหลายแหล่ง

ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ไทยก็มีการนำเข้าอาหารจากหลายประเทศรวมถึงจากญี่ปุ่นด้วย ไทยมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูป ตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า และเพิ่มขั้นตอนทดสอบ “สูงขึ้น” จากปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

ไทยคว้าส่วนแบ่งตลาดจีนมากขึ้น

ภาพสะท้อนในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า “ส่วนแบ่งตลาดอาหารทะเลนำเข้าของจีน” ซึ่งมีมูลค่า 18,765 ล้านเหรียญสหรัฐเปลี่ยนไป โดยการนำเข้าสินค้า พิกัด 03 อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ปี 2022 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของจีน มีสัดส่วนราว 2% ต่อมาในปี 2023 ไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็น 2.2% จาก 382.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 415.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่จีนนำเข้ามาก ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปูแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น

เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มพิกัด 1604 และ 1605 ปลาและอาหารทะเลแปรรูป ที่จีนนำเข้าจากทั่วโลก มูลค่ากว่า 474 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ในปี 2022 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีน มีสัดส่วนราว 14% แต่ในปี 2023 จีนนำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เป็น 16% คิดเป็นมูลค่าจาก 47.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนนิยมนำเข้า กุ้งกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ปลาหมึกกระป๋อง ซาร์ดีนและแมกเคอเรลกระป๋อง ซึ่งหากรวม 2 กลุ่มนี้ไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น ถึง 41 ล้านเหรียญสหรัฐ

“หากไทยมีการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหารทะเลไทย และมาตรการการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลไทยอย่างเข้มงวดให้แก่คู่ค้าไทยได้ แน่นอนว่าจะเป็นการสร้างโอกาสในการส่งออกได้” นายวิศิษฐ์กล่าวสรุป