ญี่ปุ่นดันเพิ่มส่งออกอาหารทะเลสู่อาเซียน ไทยเป็นจุดหมายเบอร์ 1 ในภูมิภาค

ญี่ปุ่น อาหารทะเล

หลังจากที่ญี่ปุ่นเสียตลาดส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญที่สุดไป เนื่องจากจีนและฮ่องกงห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นทั้งแบบสดและแบบแปรรูป ทำให้ญี่ปุ่นกำลังพยายามเร่งเพิ่มการส่งออกอาหารทะเลมาภูมิภาคอาเซียน โดยรุกประชาสัมพันธ์และทำการตลาดหลายทาง

เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2023 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) ได้เปิดตัวแคมเปญ “HOTATE Festival” เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในไทยรู้จักและบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่นมากขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคร่วมกับผู้นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีก เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ในประเทศไทย

ตามมาด้วยกิจกรรม “ASEAN Media Event” ที่ “กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง” ของประเทศญี่ปุ่น เชิญสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ จาก 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไปสัมผัสประสบการณ์การชิมหอยเชลล์และปลิงทะเลแบบสด ๆ พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงจนถึงการแปรรูป ที่เมืองอาโอโมริและภูมิภาคฮอกไกโด ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” เป็น 1 ใน 2 สื่อมวลชน-บล็อกเกอร์จากไทยที่ได้รับคำเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมนี้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ญี่ปุ่น อาหารทะเล
หอยเชลล์ถูกนำขึ้นมาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงในทะเล

กิจกรรมแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือ การเยี่ยมชมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลและสาธิตการเพาะเลี้ยง-การจับ ไปถึงการจับขึ้นมาจากทะเล ณ ท่าเรือประมงจริง เข้าสู่กระบวนการจัดการก่อนส่งขายสด ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปในโรงงาน รวมถึงการพบกับกลุ่มสมาคมประมง ตัวแทนโรงงานแปรรูป และตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่น ที่มาให้ข้อมูลว่าหอยเชลล์และปลิงทะเลของญี่ปุ่นมีความพิเศษอย่างไร และในทางกลับกันตัวแทนจากญี่ปุ่นได้สอบถามสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์จาก 4 ประเทศในอาเซียนว่า การบริโภคอาหารทะเลญี่ปุ่นในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร และถามว่ามีคำแนะนำอะไรที่จะทำให้ญี่ปุ่นเพิ่มการส่งออกไปยังแต่ละประเทศได้หรือไม่

ส่วนที่สอง คือ การชิมหอยเชลล์กับปลิงทะเลทั้งแบบปรุงสุกเป็นอาหารหลากหลายเมนูตลอดทริป และแบบดิบที่จับขึ้นมาจากทะเลแล้วกินสด ๆ ที่ท่าเรือ เพื่อให้ได้สัมผัสรสชาติวัตถุดิบที่สดใหม่จริง ๆ

กระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่นบอกตรงไปตรงมาว่า กิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ความน่าดึงดูดใจของหอยเชลล์และปลิงทะเลญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ประมงอื่น ๆ ของญี่ปุ่นให้แก่ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการส่งออก ทั้งเพิ่มจุดหมายปลายทางการส่งออกใหม่ และเพิ่มปริมาณการส่งออกในจุดหมายปลายทางเดิมที่ทำได้ดีอยู่แล้ว

หอยเชลล์
หอยเชลล์ที่จับขึ้นมาแล้วกำลังถูกลำเลียงเข้าสู่กระบวนการส่งขายและแปรรูปต่อไป

ถึงแม้ว่ากิจกรรมจะเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์หอยเชลล์กับปลิงทะเล แต่ทางกระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่นบอกว่า ญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลโดยภาพรวม

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกโปรโมตหอยเชลล์และปลิงทะเลเป็นพิเศษ โยชิคัตสึ คิมูระ (Yoshikatsu Kimura) รองผู้อำนวยการกองวางแผนนโยบายการส่งออก สำนักกิจการการส่งออกและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศญี่ปุ่น บอกว่า หอยเชลล์เป็น 1 ใน 29 สินค้าส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการผลิตมากและส่งออกมากที่สุด ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มการส่งออกต่อไป ส่วนปลิงทะเลไม่ใช่สินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ญี่ปุ่นเชื่อว่าสามารถขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย จึงเพิ่มปลิงทะเลเข้ามาในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วย

ญี่ปุ่น อาหารทะเล หอยเชลล์
หอยเชลล์ที่จับขึ้นมาแล้วกำลังจะเข้าสู่กระบวนการส่งขายและแปรรูปต่อไป

โยชิคัตสึ คิมูระ บอกอีกว่า นอกจากหอยเชลล์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้กำหนดให้ปลาหางเหลือง ปลากะพง (Sea Bream) ไข่มุก และผลิตภัณฑ์ประมงอื่น ๆ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญด้วย และกำลังพยายามเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็พยายามจะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงโดยรวมด้วย

ในปี 2022 มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงโดยรวมของญี่ปุ่นอยู่ที่ 387,300 ล้านเยน (ประมาณ 93,967 ล้านบาท) ปลายทางการส่งออกอันดับต้น ๆ ได้แก่ จีน (87,100 ล้านเยน) ฮ่องกง (75,500 ล้านเยน) สหรัฐอเมริกา (53,900 ล้านเยน) ไต้หวัน (34,600 ล้านเยน) เกาหลีใต้ (24,400 ล้านเยน) ไทย (23,500 ล้านเยน) เวียดนาม (21,600 ล้านเยน) และสิงคโปร์ (9,600 ล้านเยน)

โรงงานแปรรูปหอยเชลล์

สำหรับหอยเชลล์ ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ญี่ปุ่นส่งออกมากที่สุด ในปี 2022 มีมูลค่าการส่งออก 91,052 ล้านเยน คิดเป็น 23.5% ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่น โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน (46,724 ล้านเยน) ไต้หวัน (11,165 ล้านเยน) สหรัฐ (7,815 ล้านเยน) เกาหลีใต้ (7,540 ล้านเยน) เนเธอร์แลนด์ (5,296 ล้านเยน) ออสเตรเลีย (2,090 ล้านเยน) และไทย (1,197 ล้านเยน)

จากข้อมูลนี้จะเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าประมง-อาหารทะเลจากญี่ปุ่นมากที่สุดในอาเซียน ทั้งโดยภาพรวมและเฉพาะหอยเชลล์

ส่วนในภาพใหญ่ การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของญี่ปุ่น ในปี 2023 มีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเยน และญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะเพิ่มการส่งออกเป็น 2 ล้านล้านเยนภายในปี 2025 และ 5 ล้านล้านเยนภายในปี 2030โดยมีผลิตภัณฑ์ประมงเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลัก

ญี่ปุ่น อาหารทะเล
คนงานประมงเพิ่งดำน้ำลงไปจับปลิงทะเลขึ้นมาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงในทะเล

เมื่อถามถึงความสำคัญของตลาดอาเซียนต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของญี่ปุ่น โยชิคัตสึ คิมูระ กล่าวว่า หลายประเทศในอาเซียนอยู่ในกลุ่มท็อป 10 ของปลายทางการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ประมงของญี่ปุ่นเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคจำนวนมากในบางประเทศอยู่แล้ว และตลาดอาหารของประเทศในกลุ่มอาเซียน คาดว่าจะเติบโตขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นด้วย

ปลิงทะเล
ปลิงทะเล

ส่วนวิธีการที่ญี่ปุ่นจะส่งเสริมการส่งออกนั้น โยชิคัตสึ คิมูระ กล่าวว่า ขั้นตอนแรกคือการสื่อสารความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภค โดยการเผยแพร่ข้อมูลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และสื่อสารผ่านร้านค้าปลีก และร้านอาหารในปลายทางการส่งออกนั้น ๆ อย่างที่มีการจัดงานที่ร้านค้าปลีกในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากได้ลิ้มลองผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของญี่ปุ่น และกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้นำเข้า-ผู้ซื้อกับธุรกิจในญี่ปุ่นก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งญี่ปุ่นได้ดำเนินการในส่วนนี้ ทั้งเชิญผู้ซื้อมาที่ญี่ปุ่น เชิญเข้าร่วมงานแสดงสินค้าญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในต่างประเทศ และจัดการประชุมทางธุรกิจผ่านออนไลน์

“ด้วยกิจกรรมเหล่านี้ ญี่ปุ่นตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และประมง และอาหารไปทั่วโลกให้ได้ 2 ล้านล้านเยนภายในปี 2025 และเพิ่มเป็น 5 ล้านล้านเยนภายในปี 2030 และหวังว่าจะส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนในอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกทั่วโลก” รองผู้อำนวยการกองวางแผนนโยบายการส่งออก สำนักกิจการการส่งออกและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศญี่ปุ่นบอกเป้าหมาย