เปิดเหตุผล เอกชนไม่เอา 4.18 บาท ขอรัฐทบทวนค่าไฟ เหลือ 4.00-4.10 บาท

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เอกชนขอลดค่าไฟฟ้างวด 2 เดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เหลือ 4.00-4.10 บาท ย้ำ ไม่เอา 4.18 บาท หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจลดภาระค่าครองชีพ ตั้งข้อสังเกต 4 ปัจจัยที่ยังช่วยลดราคาลงได้อีก

วันที่ 9 มีนาคม 2567 หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกมาเปิดเผยตัวเลขตามสมมติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567ว่ามีโอกาสที่จะตรึงอยู่ที่ 4.18 บาทเท่ากับงวดแรกของปี 2567

ล่าสุดนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยมุมมองต่อ ค่าไฟฟ้า งวด 2/67 (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม)ว่า ข้อเสนอแนะ ฝ่ายนโยบายควรทบทวนลดค่าไฟลงอีกเล็กน้อย เช่น 4.00 -4.10 บาท/หน่วย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและภาครัฐในงบประมาณที่ อุ้มกลุ่มเปราะบางในช่วงที่อากาศร้อนและประชาชนต้องใช้ปริมาณไฟฟ้ามากขึ้น และควรเร่ง นโยบายเชิงรุกตามที่หลายภาคส่วนเสนอแนะมาอย่างสร้างสารค์ ให้เป็นรูปธรรมหรือไม่

สำหรับการพิจารณาค่าไฟงวดนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลมีมากขึ้น แต่ยังขาดนโยบายเชิงรุกในการลดค่าไฟฟ้าที่ต้นเหตุ และ ไม่ควรพึ่งพิงโชคชะตา จากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ

พร้อมกันนี้ได้ตั้ง 4 ข้อสังเกต เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาค่าไฟ คือ

1.จากปัญหาค้างหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1 แสนล้านบาท แต่ทำไมยังไม่มีการพิจารณามาตรการรีไฟแนนซ์มาช่วย

2.ปริมาณ NG ในอ่าวไทย ลดลงเหลือ 40% จากเดิม 42% ทั้งๆ ที่หลุมเอราวัณแตะ 800 ล้านหน่วยต่อวัน ทำไมต้องเพิ่ม LNG นำเข้าที่แพงกว่า อ่าวไทยอีก 3%

3.ควรทบทวนต้นทุนที่แฝงอยู่ใน NG เช่น ค่าผ่านท่อทั้งระบบ พร้อมทบทวนราคา NG ที่ขายโรงไฟฟ้าทุกประเภท ทั้ง SPP และ IPS ให้เป็นราคาเดียวกับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ IPP

4.ภาครัฐควรเร่งรัดนโยบายส่งเสริม Solar เสรี และ Solar ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมพลังงานพลังงานสะอาดและลดการนำเข้า LNG รวมทั้งระบบราคาที่จูงใจ ที่รับซื้อคืน มากกว่า Net billing ที่ใช้ในปัจจุบัน อีกทั้งการปลดล็อค ใบอนุญาต รง4 ไม่ใช่แค่ Solar Rooftop ที่เกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ควรรวมถึง Solar Farm และSolar Floating ด้วย