ภูมิธรรม ถก จีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ขอต่ออายุ GSP ให้ไทย

GSP

“ภูมิธรรม” ถกจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ พร้อมสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ ลุยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ไทยวอนให้ต่ออายุโครงการ GSP ปรับสถานะของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ส่วนการเจรจาความตกลง IPEF สนใจ

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (Mrs.Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (The President’s Export Council : PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่านับเป็นครั้งแรกที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้พบหารือกัน โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีของไทยและสหรัฐมานานกว่า 190 ปี พร้อมที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ในการหารือนอกจากได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าไทยแก่สหรัฐ อาทิ นโยบาย Soft Power การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet การส่งเสริม MSMEs ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ของไทย รวมทั้งการมุ่งแก้ไข ปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน

“ทั้ง 2 ฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ และสหรัฐก็พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น”

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ไทยยินดีในการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากในปี 2566 ที่ผ่านมา และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐและประเทศหุ้นส่วนในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปความตกลง IPEF ร่วมกัน โดยเฉพาะเสาที่ 1 เรื่องการค้า (Pillar 1 Trade) ซึ่งสหรัฐพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ IPEF ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับไทยและประเทศในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอให้สหรัฐพิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference) หรือ GSP ที่หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งก็คาดหวังในการต่ออายุ และสหรัฐเองก็พร้อมที่จะติดตามเรื่องนี้ให้

อีกทั้งไทยยังได้แสดงให้สหรัฐเห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในด้านต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สามารถปรับสถานะของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป

“ตนได้แนะนำหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยเป็นตัวกลางคุยกับสหรัฐในการดำเนินการต่าง ๆ หลังจากนี้เราจะลงในรายละเอียดต่อไป ซึ่งการหารือในวันนี้เป็นบวก สหรัฐเชื่อมั่นในรัฐบาลไทยและยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้คุยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกันเป็นอย่างดี อยากสร้างความสัมพันธ์และยกระดับ ซึ่งท่านรัฐมนตรีจะมาผลักดันเองให้สิ่งที่คุยกันวันนี้เป็นจริง เป็นนิมิตหมายอันดีเรามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและรู้ใจกัน การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก”

สำหรับการค้าไทย-สหรัฐ ในปี 2566 สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 68,358.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐ 48,864.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ขณะที่สหรัฐเป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 3 ของไทย มีมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐ 19,493.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ

ล่าสุดวันที่ 13 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “นิทรรศการ 72 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย