เปิดสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐอีก 10 รายการ ตรวจสอบก่อนส่งออก

เปิดสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐอีก 10 รายการ

กรมการค้าต่างประเทศ ปรับปรุงรูปแบบการยื่นคำขอตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าเฝ้าระวัง จากการยื่นผ่าน E-mail เป็นผ่านระบบออนไลน์ เพิ่มเติมรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐอีก 10 รายการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ยกระดับการให้บริการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวัง ผ่านทางระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs Plus) เต็มรูปแบบ โดยผู้ส่งออกสามารถยื่นคำขอและรับผลการตรวจถิ่นกำเนิดผ่านระบบ ROVERs Plus เพื่อใช้ประกอบการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Form CO ทั่วไป) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก ปรับลดขั้นตอนการยื่นคำขอ และตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

กรมได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

โดยกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการยื่นคำขอตรวจคุณสมบัติ ให้รองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และปรับปรุงบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง และเพิ่มเติมรายการสินค้า สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐจำนวน 10 รายการ ได้แก่

(1) ท่อเหล็ก (2) ลวดและเคเบิลทำจากอลูมิเนียม (3) ล้อรถ (4) ส่วนประกอบรถ (5) ใบเลื่อย (6) พื้นไม้ (7) ผลิตภัณฑ์จากหินควอตซ์ (8) ไม้แขวนเสื้อ (9) สปริงด้านใน และ (10) ผลิตภัณฑ์จากไม้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีรายการสินค้าเฝ้าระวังรวมทั้งสิ้น 58 รายการ

ทั้งนี้ กรมได้มีการประสานความร่วมมือกับศุลกากรประเทศปลายทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบขั้นตอนวิธีการยื่นคำขอ และรายการสินค้าเฝ้าระวังที่ต้องยื่นตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าทั้ง 58 รายการ ได้ที่ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าเฝ้าระวัง พ.ศ. 2566 บนเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) หรือ scan QR code ด้านล่างนี้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมการค้าต่างประเทศ กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด หมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-4808 และ 0-2547-5132 หรืออีเมล์ [email protected]