ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน

นักลงทุน
บทความ

ทีดีอาร์ไอ-CMDF- FETCO-ก.ล.ต. จัดสัมมนา “ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” ทบทวน 75 ประเด็นอุปสรรคในตลาดทุน ชงข้อเสนอเพิ่มศักยภาพ-คุ้มครองนักลงทุน-คาดประหยัดต้นทุนอย่างน้อย 1 พันล้านบาทต่อปี

วันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” พร้อมนำเสนอผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอในโครงการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวนกฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย (กิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน)

ชี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ต้องแก้กฎหมาย-ระเบียบตลาดทุนไทยให้ทันโลก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตลาดทุนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังช่วยเสริมความสมดุลให้แก่ระบบการเงิน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ รวมทั้งเป็นช่องทางการออมและการลงทุนของประชาชนด้วย

แต่ในปัจจุบันมีความท้าทายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยี รูปแบบโมเดลการทำธุรกิจใหม่ ๆ และการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว

“ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายต่อหน่วยงานด้านการกำกับดูแลตลาดทุน ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาเครื่องมือด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ชงแก้ระเบียบ เพิ่มความยืดหยุ่นระดมทุน-เพิ่มคุ้มครองผู้ถือหลักทรัพย์

ด้าน ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าโครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษา กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการอนุญาตต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย ระยะที่ 1 โดยได้ทบทวนประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 75 ประเด็น

ประกอบไปด้วย 226 กระบวนงาน และมีข้อเสนอแนะแบ่งตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ ตามกรอบของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทย และระบบเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 11 แผนงาน เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความชัดเจนในการกำกับดูแลและการคุ้มครองนักลงทุน รวมทั้งเพื่อให้กฎหมายภายใต้การกำกับดูแลทุกฉบับมีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น

คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการระดมทุน การออกกฎเกณฑ์ และเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าประหยัดต้นทุนได้กว่า 1.2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดรองและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและการให้บริการของ Trading Platforms อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD)

หนุน เปิดบัญชีลงทุนให้ผู้เยาว์-เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ การพัฒนาตลาดทุนที่เอื้อต่อทุกภาคส่วนให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ มีจำนวน 8 แผนงาน เช่น เปิดให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯสำหรับ SMEs และ Startup การเข้าถึงบทวิเคราะห์หุ้น รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ครบถ้วน ตอบโจทย์นักลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ในยุทธศาสตร์นี้ มีข้อเสนอให้มีแผนงานด้านการเข้าถึงการลงทุน เช่น การผลักดันกระบวนการเปิดบัญชีลงทุนที่ง่ายและเหมาะสมสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี การเข้าถึงบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับปรุงนิยามนักลงทุน ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานราชการ

เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำความรู้จักลูกค้าบุคคลและนิติบุคคล (e-KYC) ซึ่งคาดว่าจะทำให้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (ASCO) จะสามารถประหยัดต้นทุนได้กว่า 567 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล ที่มุ่งเน้นส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน มี 6 แผนงาน เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน โดยมีบทบาทในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับกระบวนการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สำหรับข้อเสนอของยุทธศาสตร์นี้ เป็นแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการโอนหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) เช่น การไม่สามารถออกหุ้นกู้แบบ Scripless ได้ตลอดอายุ การให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้นที่แตกต่างกันระหว่างผู้ถือหลักทรัพย์แบบมีใบหลักทรัพย์ (Scrip) และผู้ถือหลักทรัพย์ผ่านระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless)

และการไม่สามารถโอนพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving bond) แบบ scripless ในตลาดรองข้ามธนาคารเหมือนการโอนหุ้นกู้ได้ โดยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ซื้อพันธบัตรจากธนาคารตัวแทนจำหน่าย ซึ่งหากมีการดำเนินการคาดว่าสามารถประหยัดต้นทุนได้กว่า 386 ล้านบาท ขณะที่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน จะมีการดำเนินการศึกษาในระยะที่ 2 ต่อไป

เวทีเสวนา “ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” กูรูแลกเปลี่ยนมุมมอง

ทั้งนี้ภายในงานสัมมนายังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย น.ส.สุชา บุณยเนตร ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย สำนักงาน ก.ล.ต. ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ เลขาธิการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และ ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สำหรับเนื้อหาบนเวทีเสวนานั้น เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย เกี่ยวกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาตลาดทุน รวมไปถึงประเด็นการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่ทีดีอาร์ไอจะมีการศึกษาต่อไปในระยะที่ 2