AI-กรีน จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ บิ๊กธุรกิจฝ่าพายุ 3 สงครามใหญ่

PCC1

บิ๊กธุรกิจ-ทีดีอาร์ไอเสนอแนวคิดปลดล็อกเศรษฐกิจไทย ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลงในวันโลกไร้ระเบียบ บนเวทีสัมมนา Prachachat Business Forum 2024 เอกชนประสานเสียง “ดิจิทัล&กรีน” จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจดิสรัปต์ทุกมิติ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” เผยการแข่งขันเศรษฐกิจแห่งอนาคตมี 3 สงครามใหญ่ “เทคโนโลยี-กรีน-ทาเลนต์” SCBX ชูเอไอคือคำตอบแทรกซึมในทุกส่วนธุรกิจ เตรียมเปิดตัว AI “ไต้ฝุ่น” “ปณต-เฟรเซอร์ส” 10 ปีข้างหน้าทศวรรษที่ท้าทายการลงทุนอสังหาฯ “ศุภชัย-ซีพี” ปลุกกระแสวางหลักสูตรสร้างคนยุค AI รับเทรนด์เปลี่ยนโลก พร้อม 9 ข้อเสนอพัฒนาคนสู่ยุค 5.0

ไทยติดล็อก 3 ชั้น

จากเวทีสัมมนาใหญ่ Prachachat Business Forum 2024 # ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง โดยประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวบนเวทีสัมมนาภายใต้หัวข้อ Unlocked Thailand ว่า ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเอไอ แต่ถ้าประเทศไทยยังถูกมัด ถูกล็อกไว้ แล้วเราจะไปต่ออย่างไร ถึงเวลาที่เราจะต้อง Unlocked สิ่งที่ล็อกประเทศไทยนั้นมีมากมาย แต่จะขอยกแค่ 3 เรื่องหลัก คือ กฎระเบียบโบราณ-การศึกษาจำท่อง-ทดลองแต่ไม่เรียนรู้ ปัญหาเกิดซ้ำซาก ถ้าเราปลดล็อก 3 เรื่องนี้ อนาคตประเทศไทยมีแน่ เพราะเอกชนไทยมีความเข้มแข็ง บริษัทใหญ่มีความพร้อม สตาร์ตอัพ, เอสเอ็มอี มีไดนามิก ขาดแต่กลไกสำคัญที่ไปล็อกธุรกิจ ประชาชนในการทำมาหากิน คือ ภาครัฐ

ภาครัฐเป็นตัวอย่างของการมีกฎระเบียบโบราณ เป็นตัวสำคัญที่มัดประเทศไทยไว้ การขอใบอนุญาตที่มากมายทำให้ประชาชนหากินลำบาก วิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปได้เหมือนกับที่หลายประเทศทำกัน เพื่อปล่อยให้ธุรกิจโบยบิน คือ 1.การกิโยตินกฎหมาย เอากฎหมายมาจัดการ ถือเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมากโดยไม่ต้องใช้เงิน คือแก้ไขกฎระเบียบให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ง่าย ๆ

2.การศึกษาที่เน้นท่องจำ “จำและท่อง” เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราไม่สามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเรียนรู้ความรู้ที่นิ่งอยู่จากการท่องจำ ในระบบการศึกษาไทยอยากให้คนคิดเหมือนกัน แล้วเราจะมีนวัตกรรมที่ไปอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากได้อย่างไร และ 3.ประเทศไทยต้องปลดล็อกวิธีการทำงาน เราชอบทดลองโดยไม่เรียนรู้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่เก็บผลมาประเมินต่อไปให้ดีขึ้น เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศที่แก้ยาก ๆ ได้

โลกไร้ระเบียบ-ไทยอยู่ตรงไหน

ขณะที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Geopolitics Outlook” กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่ใช่แค่ผันผวน แต่โลกกำลังจะหักมุมเป็น Twists And Turns เปลี่ยน 3 ด้านที่กระทบเศรษฐกิจและธุรกิจไทยอย่างมาก คือ “สงครามดุดัน แข่งขันดุเดือด และอาเซียนโดดเด่น”

สำหรับสงครามเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงขึ้นและแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกระทบต่อไทยมาก โดยเศรษฐกิจจีนไม่ดี แต่จีนมีความสามารถการผลิตมาก ดังนั้น จีนต้องส่งออกนอกประเทศ ธุรกิจจีนจึงมาบุกตลาดอาเซียน ขณะที่ธุรกิจไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ส่วนด้านที่สาม อาเซียนโดดเด่น คือต่างชาติมองว่าอาเซียนไม่เป็นศัตรูกับใครมากนัก ธุรกิจต่าง ๆ จึงลดความเสี่ยงเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

ขณะที่อาเซียนโดดเด่น แต่ต้องบอกว่าไทยยังไม่ใช่ตัวเอก ตอนนี้ยังอยู่กลาง ๆ เป็นตัวประกอบ ตอนนี้เด่น ๆ เป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย แล้วค่อยเป็นไทย ก็หวังว่าในอนาคตไทยจะเด่นขึ้นได้

3 สงครามใหญ่ “เทค-กรีน-ทาเลนต์”

นอกจากนั้น ดร.สันติธารกล่าวถึงการแข่งขันของ Future Economy หรือเศรษฐกิจแห่งอนาคต ว่ามีการแข่งขันหรือสงครามเกิดหลายมิติ ไฮไลต์ 3 สงคราม คือ สงครามเทคโนโลยี (Tech War) สงครามเศรษฐกิจสีเขียว (Green War) และสงครามแย่งชิงคนเก่ง (Talent War)

“อยากให้มองสงครามเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ด้านหนึ่งสงคราม-การแข่งขันเหล่านี้เป็นคลื่นยักษ์ ซึ่งถ้าไทยโต้คลื่นโดยกระโดดขึ้นขี่คลื่นทัน ก็มีโอกาสที่ไทยจะแซงหน้าคนอื่น ขณะที่ประเทศไทยเหมือนนักกีฬาสูงวัย ไม่สามารถว่ายน้ำแข่งแบบปกติได้ ไทยต้องมีบอร์ดในมือแล้วโต้คลื่นไปกับสงครามเหล่านี้” ดร.สันติธารกล่าว

SCBX ดึง AI ลดต้นทุน-ปั้นรายได้

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวในการเสวนาพิเศษหัวข้อ “The new chapter ธุรกิจไทย (ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม)” ว่า หลายปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เน้นการเติบโต ไม่เน้นการขยายตัวของสินเชื่อ และไม่เน้นชาร์จลูกค้าแพงขึ้น แต่เน้นวินัยในเรื่องของการลงทุน และปรับลดต้นทุน ซึ่งปรับได้ลงมาหลักหมื่นล้านบาท โดยการทำให้องค์กรหยุดลงทุนที่ไม่มีเหตุผล และปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจเดิมที่เป็น Cash Cow แข็งแรง และมีความยืดหยุ่น (Resilience) ต่อการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม

“การนำเอาเทคโนโลยีมาเป็น Cost Structure หากทำได้ถูกเท่าไหร่ เราจะมีโอกาส และมีโอกาสที่จะสำเร็จได้มาก ส่วนเรื่องใหม่ ความสามารถใหม่ จะมีเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว (Green) และ Asset Light (ลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร) รวมถึงการมีแนวคิดที่แข็งแรง จะช่วยดึง Talent ที่เงินไม่ใช่คำตอบ อันนี้เป็นสิ่งที่ SCBX ตั้งไว้ เป็นไกด์ไลน์ให้ตัวเอง”

ซีอีโอ SCBX กล่าวว่า ในการทำธุรกิจปัจจุบัน SCBX คอมมิตบนเรื่องของ AI เต็มที่ เพราะเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้กำลังเปลี่ยนโลก โดยบริษัทมีโครงการเรียนรู้ AI ของพนักงานในกลุ่มกว่า 2 หมื่นคน มีการสร้างหลักสูตรให้พนักงานทุกคน ซึ่งจะเป็นโอกาสของพนักงานทุกคนที่จะสามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้ เนื่องจากความกังวลว่า AI จะมาแทนที่คน เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นโจทย์ใหญ่ที่ SCBX กำลังแก้อยู่ ซึ่งต้องเน้นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการสื่อสารที่อยากให้มองเป็นโอกาส

“วันนี้กลุ่ม SCBX เซตว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า รายได้ทั้งหมดในกลุ่ม SCBX ประมาณ 75% จะมาจาก AI Related โดยทุกบริษัทถูกแจกเป้า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทำมาหากิน แต่เป็นเรื่องของ Process end to end เป็นเรื่องที่จะต้องนำ AI เข้าไปในกระบวนการทั้งหลังบ้าน กลางบ้าน และหน้าบ้าน”

นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมธุรกิจของ SCBX จะแบ่งออกเป็น GEN โดย GEN 1 คือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่เป็น Cash Cow, GEN 2 เป็นการจะโฟกัสบนไม่มี Legacy จะทำอย่างไรที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างบริการ โดยพยายามรวมศูนย์พวกเทคโนโลยี และ AI มาอยู่ตรงกลาง และตั้งบริษัทที่ชื่อว่า DataX เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน Data ภายใต้กฎข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทำเรื่อง Data Pooling และทำเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและเชื่อมข้อมูลมาอยู่ตรงกลาง เพื่อจะทำเรื่องของ Analytic AI, Generative AI และประมาณกลางปีนี้จะเปิดตัว LLM เป็น AI รูปแบบหนึ่ง ภายใต้ชื่อ “ไต้ฝุ่น” (Typhoon) เวอร์ชั่น 1.0

ทศวรรษที่ท้าทายอสังหาฯ

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือ FCL กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่แล้ว ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับปัจจัยบวกจากภาวะดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีศักยภาพต่อการลงทุน ทำให้เป็นโอกาสของวงการอสังหาฯที่สามารถสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่แนวโน้ม 10 ปีนับจากนี้ เรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ท้าทาย

“ช่วงโควิดเราเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่รู้แสงสว่างปลายทางอยู่ตรงไหน แต่พอออกจากอุโมงค์แล้วเหมือนกับเข้าไปสู่พายุ ที่ถือว่าเป็นความท้าทายของอสังหาฯอย่างมากในเรื่องของพื้นฐานดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พื้นฐานของการเติบโตที่ช้าลงของทุก ๆ ส่วนในโลก”

ทั้งนี้ ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม FCL ได้เข้าไปลงทุนใน 22 ประเทศ 4 ทวีป จำนวน 130 เมือง สามารถพัฒนาและบริหารทรัพย์สินมากกว่า 500 โครงการ ครอบคลุมครบวงจรทั้งอสังหาฯเพื่อที่อยู่อาศัย อสังหาฯเชิงพาณิชย์ และอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม มีการเติบโตมากกว่า 4 เท่า เทรนด์หลังจากนี้มีความท้าทายผู้ประกอบการครั้งใหญ่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

“ประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศและในไทย สิ่งที่ได้เรียนรู้เราจะมองการพัฒนาโครงการที่เดินคู่ไปกับนโยบายภาครัฐให้สอดคล้องกันได้อย่างไร เพราะหากความมั่นคงของแผนธุรกิจกับแผนนโยบายของประเทศไม่ตรงกัน ก็จะมีความท้าทายกับการลงทุนอสังหาฯอย่างสูงมาก”

นายปณตกล่าวว่า ในระดับเมือง จุดโฟกัสมีเรื่องการวางผังเมือง กับเรื่องแผนแม่บทจำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด และประเด็นความยั่งยืนที่ต้องมาพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็งและจริงจัง ตัวอย่างรัฐบาลสิงคโปร์เคยวางแผนแม่บทพัฒนาเมือง 50 ปี แต่มีการทบทวนหลังจากผ่านไป 30 ปี เพราะเริ่มเห็นแล้วว่าแผนแม่บทไม่ทันสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่นักลงทุนทั่วโลกเดินทางมาศึกษาดูงานในด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

โดยเทรนด์การพัฒนาโครงการสมัยใหม่ มุ่งไปสู่การพัฒนาแบบผสมผสาน หรือ “มิกซ์ยูสโปรเจ็กต์” ซึ่งจะต้อง Integrated เข้ากับแผนเออร์เบินแพลนนิ่งด้วย ในกรุงเทพฯมีตัวอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารชุดปัจจุบัน มีนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ต้องการยกระดับให้เป็นเมืองสีเขียว เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาของ FCL ซึ่งได้ลงทุนแล้ว 7 โครงการมิกซ์ยูสแนวทำเลถนนพระรามที่ 4 ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากภาพใหญ่ของประเทศไทยที่เรามองเป็นการเชื่อมโยงความเป็นอาเซียน มองถึงกรุงเทพฯ เป็นเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และอสังหาฯมีบทบาทไม่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องของการท่องเที่ยว การโปรโมตคอมเมอร์เชียลออฟฟิศเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้น การดึงดูดสร้างสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

“ล่าสุดโครงการวัน แบงค็อก ขายความเป็นสมาร์ทซิตี้ แต่ถ้าเมืองและการพัฒนาของภาครัฐไม่สอดคล้องกัน เราลงทุนเรื่องของสมาร์ทโซลูชั่นเข้าไปแล้วอาจจะเป็นต้นทุนฟุ่มเฟือยให้กับโครงการด้วยซ้ำ ถ้าเราสมาร์ท แต่เมืองไม่สมาร์ทไปกับเรา” นายปณตกล่าว

ซี.พี.หนุนหลักสูตรปั๊มคนคุม AI

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซี.พี. กล่าวว่า ปัจจุบัน GDP ประเทศไทยโตช้าที่สุดในอาเซียน และอีกไม่นานหลายประเทศในอาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย เศรษฐกิจไทยกำลังเดินไปช้ามาก นโยบายสังคมระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐานระบบการศึกษา การให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำ เพราะมีโอกาสเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอาเซียน

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยต้องเผชิญความท้าทายจาก 6 ด้าน เช่น ปัญหาโลกร้อน ที่ทั่วโลกวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ปี 2050 ดูแลไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันอุณหภูมิปรับขึ้น 1-1.2 องศาเซลเซียส หากปล่อยให้โลกร้อนจนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ระดับน้ำจะสูงขึ้น 6 เมตร แต่หากน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้น 60 เมตร ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลายประเทศหันมาพัฒนาพลังงานสะอาด และเริ่มมีการนำเรื่องพลังงานนิวเคลียร์กลับขึ้นมาปัดฝุ่นศึกษา

ขณะที่ความท้าทายในการใช้เทคโนโลยี ในยุค 5.0 ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนหนึ่งคนอาจจะมี AI หลายตัว และ AI จะถูกออกแบบเฉพาะสำหรับคนนั้น ไม่ใช่เป็น General AI ดังนั้นควรมีการพัฒนาคนที่สามารถควบคุมระบบ AI อย่างน้อย 10% ของประชากร เช่น ประเทศไทยมีคน 50 ล้านคน ต้องมีคนที่จบด้านวิศวกรรม ไอที AI เท่ากับ 5 ล้านคน แต่ทุกวันนี้มีเด็กที่จบทางด้านคอมพิวเตอร์ Data ไอที เพียง 40,000 คนต่อปี จะทำอย่างไรให้ได้ 5 ล้านคน

9 ข้อเสนอพัฒนาคนสู่ยุค 5.0

นายศุภชัยกล่าวว่า ได้ทำ 9 ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนพัฒนาคน 5.0 คือ 1.กำหนดให้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นวิชาบังคับ 2.ให้เด็กมีคอมพิวเตอร์สะอาด 6 แสนเครื่อง 3.พัฒนาระบบ Learning Center ทุกโรงเรียนภายในปี 2025 4.มีอินเซนทีฟคอนเทนต์ในช่วงไพรมไทม์ เพื่อให้พัฒนาคอนเทนต์ที่สอดแทรกศีลธรรม 5.สร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง 3 ล้านคน 6.การสนับสนุนให้มีสตาร์ตอัพ 20,000 รายในปี 2027 โดยให้อินเซนทีฟเอกชนเข้าไปทำงาน 7.ปรับแนวทางพัฒนาคนให้เน้นการใช้เหตุผลและการประยุกต์ใช้ 8.ผลักดันมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 9.พัฒนาด้านคุณธรรม

“หากเริ่มวางหลักสูตรคอมพิวเตอร์เป็นวิชาพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับ ม.ต้น ปวช. และ ปวส. เชื่อว่าใน 3 ปี จะสามารถพัฒนาคนที่มีทักษะดิจิทัล 3 ล้านคนเฉลี่ยต่อปีได้ในปี 2028 เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องดูว่านโยบายที่จะผลักดันมีมากน้อยแค่ไหน หากดำเนินการสำเร็จ ไทยจะมีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาก และจะเป็นพื้นฐานใหม่ของทุกอุตสาหกรรมและทุกอาชีพ”

ส่วนการพัฒนา Incentive content ในช่วงไพรมไทม์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อน Soft Power ว่า ปัจจุบันห้องเรียนของสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือสื่อ ช่วงไพรมไทม์คนไทย 80% ดูละคร ดังนั้นการใช้ช่องทางนี้ในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ข้อมูลพบว่าแต่ละปีไทยมีละคร 24 เรื่อง ต้นทุนเรื่องละ 50 ล้านบาท หากไทยมีกองทุนเงินตั้งต้น 1,200 ล้านบาท สนับสนุนละครที่สร้างบทบาทตัวละครที่มีจริยธรรม ช่วยเปลี่ยนกรอบแนวคิดคนได้

ยกเครื่องไทย Hub อาเซียน

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งด้าน Tech Hub, EV Hub, Logistic Hub, Trade Hub และ Financial Hub โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ บริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีสนใจลงทุนในไทย หรือมาเลเซีย ซึ่งการที่นายกฯเศรษฐาวิ่งไปทั่วโลกไปให้การรับรองดึงการลงทุนมีผลมาก เพราะทำให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในแผนที่โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขับเคลื่อนดิจิทัลฮับ

ส่วนการพัฒนา Logistic Hub ต้องมองถึงการเชื่อมภูมิภาค อย่างรถไฟไทย-อาเซียน ไม่ใช่แค่รถไฟไทย-ลาว โดยเชื่อมหนองคาย EEC กรุงเทพฯ ไปสู่ภาคใต้ขยายไปมาเลเซีย ส่วนภาคตะวันออกขยายต่อไปกัมพูชาถึงเวียดนาม

“เส้นทางรถไฟเชื่อมไปทางอันดามันไม่ต้องคิดถึงแลนด์บริดจ์ หากเราเชื่อมมหาสมุทรอินเดียได้ ทำให้ประเทศไทยส่งสินค้าไปยังยุโรปได้ จะเปลี่ยนประเทศไทยได้มาก แต่อาจเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล อย่างกรณีที่คนจีนเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น แต่หากมองกลับกัน คนไทยอาจไปจีนเพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศจีนก็เจริญและมีความน่าอยู่มากขึ้น”
“ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งได้แน่นอน แต่ต้องมีความชัดเจน และหากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ จะเกิดการรวมศูนย์การค้า-ขาย นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของเรื่องค้า นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน ซึ่งเรามีโอกาสเป็น Financial Hub ระบบการเงิน”

ส่วนเรื่องการเกษตร ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมควรมีการลงทุนพัฒนาระบบชลประทานให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก โดยใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ 4 สายหลัก ช่วยเพิ่มผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี 3 รอบการผลิต เป็น 9 เท่า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องบริหารจัดการดีมานด์และซัพพลายไม่ให้ผลผลิตราคาตก ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน ผลผลิตมากก็พัฒนาเป็น Energy Bar เชื่อว่ามีตลาดรองรับแน่นอน

ดึง AI-ดาต้า อัพสปีดเอสเอ็มอี

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากดิสรัปชั่นครั้งนี้มาทั้งเรื่อง “ดิจิทัลและกรีน” ที่พูดกันว่า เอสเอ็มอีจะปรับตัวกับ AI ไม่ทัน เพราะยังใช้แอปพื้นฐานไม่คล่อง จริง ๆ เรื่องกรีนก็หนักไม่แพ้กัน หรือมากกว่าด้วยซ้ำไป ตอนนี้กฎของโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่คุณกำลังจะขายของและขอสินเชื่อไม่ได้ เพราะวิถีการผลิตที่ทำลายโลกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำยังไม่เปลี่ยน

“เอไอไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งคราวแต่เป็นผลกระทบใหญ่หลวงต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงองค์ความรู้และทักษะของ 1ใน 3 ของประชากรโลกที่ต้องรีสกิลใหม่ โดยในอดีตเราเห็นว่าอินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่นำการเปลี่ยนแปลงมากมาย เอไอก็คือ New Internet ที่กระทบทุกอุตสาหกรรม ทั้งปลดล็อกศักยภาพมหาศาล”

ซีอีโอบิทคับระบุว่า ปี 2567 เป็นปีที่ทุกคนต้องเริ่มใช้ AI เนื่องจากทุกวันนี้แอปพื้นฐานมีปุ่มเพิ่มเครื่องมือ AI มาให้ด้วย บริษัทใหญ่หรือเอสเอ็มอีควรลงทุนเพื่อเข้าถึงการใช้งาน พร้อมต่อการปลดล็อกความสามารถการดำเนินธุรกิจ รวมถึงฝั่งของรัฐบาลต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดาต้า AI และอินเทอร์เน็ตเป็นแสงไฟบนท้องถนนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่เอสเอ็มอีจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการรีสกิล-อัพสกิลโดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ

ขณะที่นายปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ถ้าเอสเอ็มอีไม่รู้ว่าจะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกิจอย่างไร ให้เริ่มจากเก็บ “ดาต้า” ก่อน สมมติว่าขายเครื่องดื่มที่ต้องชงแก้วต่อแก้ว แต่มีดาต้าก็จะรู้ว่าเมนูไหนขายดีช่วงไหน สามารถชงเครื่องดื่มเตรียมไว้ให้พร้อม ลูกค้ามาก็ขายได้เลยไม่ต้องรอ ช่วยให้ประหยัดเวลา และเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายมากขึ้น

“หลายคนรู้สึกว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการใช้งาน AI อย่างรวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วมีการใช้งานจริงเพียง 5% จากความสามารถของเทคโนโลยีเท่านั้น และเป็นการใช้งานแค่กลุ่มบริษัทใหญ่ หมายความว่าถ้าธุรกิจเล็ก ๆ ยังไม่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ จะยิ่งทิ้งห่างกลุ่มที่ใช้งาน AI เก่ง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนทำให้ภาพรวมของตลาดกลายเป็นผู้ชนะกินรวบหมด และต้องยอมรับว่า ถ้าวันนี้เราไม่มีดาต้า เราแพ้แน่”

ดาต้าหัวใจสำคัญชี้แพ้ชนะ

ขณะที่นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของคาราบาวกรุ๊ป นอกจากการที่มีร้านสะดวกซื้อ ซีเจ เอ็กซ์เพรส รวมถึงซีเจ มอลล์ ที่กระจายอยู่ในระดับตัวเมือง หรืออำเภอแล้ว การที่บริษัทมีเครือข่ายร้านถูกดีมีมาตรฐาน ที่กระจายอยู่ในระดับตำบล และหมู่บ้านเล็ก ๆ อีกกว่า 4,000 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน

ทั้ง 2 สิ่งนี้ทำให้บริษัทมีดาต้าที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่มี และมีเหนือคนอื่น อย่างยิ่งข้อมูลจากร้านถูกดีที่อยู่ลึกลงไปในระดับตำบล ขณะที่คนอื่นอาจจะมีเฉพาะดาต้าหรือข้อมูลของนีลเส็น

“ถ้าผมดูข้อมูลของนีลเส็นก็อาจจะรู้แค่ว่าในภาคอีสาน ผมขายดีขึ้นหรือขายแย่ลง แต่ถ้าเอามาประกอบกับข้อมูลของซีเจและดูข้อมูลของถูกดีด้วย ผมสามารถรู้ได้ว่าในภาคอีสาน 20 จังหวัดผมแพ้ในจังหวัดไหนเยอะ แพ้ในจังหวัดไหนน้อย ในทำนองเดียวกันถ้าผมชนะชนะในจังหวัดไหนเยอะ และชนะในจังหวัดไหนน้อย”

นายเสถียรย้ำว่า ดาต้าหรือแบบนี้ทำให้เวลาที่บริษัทจะจัดทำกิจกรรมทางการตลาด จะทำให้เราสามารถลงไปสู่เป้าหมาย และเครื่องมือที่สำคัญของคาราบาวกรุ๊ป ในการทำการตลาดของสินค้าพื้นฐานเหล่านี้ผมใช้ทีมสาวบาวแดงเป็นกลไกสำคัญ ยิ่งเลือกได้แม่น กิจกรรมก็ยิ่งได้ผลเยอะ เพราะดาต้าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น