บิ๊กธุรกิจหนุนรัฐบาลเศรษฐา ฟื้นเศรษฐกิจปลดล็อกประเทศฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง “อีเอ” แนะรัฐ-เอกชนต้องประสานความร่วมมือใกล้ชิดปลดล็อกกฎหมาย ดัน “พลังงานสะอาด” ดึงลงทุน ฟาก “เอสเอ็มอี” เผชิญวิกฤตดอกเบี้ยชี้รัฐบาลมาถูกทางดึงซอฟต์พาวเวอร์ขยายตลาดสินค้าไทย ซีอีโอ Accenture ปลุกธุรกิจตื่นตัวใช้ “เทคโนโลยี” ลดต้นทุนอัพ-สปีดธุรกิจ
ในงาน Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตจะเดินแบบเดิมไม่ได้ ประเทศไทยใช้บุญเก่ามาเยอะ และกำลังจะหมดจึงควรมียุทธศาสตร์ประเทศ และต้องเดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น ทั้งการประสานงานระหว่างภาครัฐ และเอกชนต้องเข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงต้องแก้ปัญหาและอุปสรรคการทำธุรกิจ ด้วยการปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ ที่ล้าสมัยโดยเร็ว
รัฐ-เอกชนร่วมมือดึงลงทุน
“รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนอย่างที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ไปรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนว่าทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น”
พร้อมไปกับกระตุ้นภาคการบริโภคของประเทศให้มากขึ้น สร้างเงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะต้องทำควบคู่กัน โดยต้องประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเหนียวแน่น
“ผมมองว่า พลังงานสะอาดไม่ใช่ตัวเสริมอีกต่อไป แต่เป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย เพราะทุกอุตสาหกรรมต้องวิ่งไปสู่ Net Zero เราจะหาทางที่จะใช้กำลังการผลิตที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลงทุนพลังงานสะอาดในราคาถูกได้ ต้องทำให้เร็วที่สุด ด้วยการปลดล็อก และเปิดเสรีให้มีการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งเรื่องราคาและเทคโนโลยี ถ้าไม่สามารถปลดล็อกได้ เราอาจหลุดจากแผนที่การลงทุนใหม่ที่จะเข้ามา”
นายสมโภชน์กล่าวต่อว่า พลังงานสะอาดที่ราคาถูกต้องควบคู่กับการทำระบบกักเก็บพลังงานเกี่ยวโยงกับเรื่องแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญจึงตัดสินใจเข้าไปในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพราะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล
“ที่เราทำมาจะเห็นได้ว่า เราเก็บคาร์บอนเครดิตเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ เพราะเก็บมาเป็น 10 ปี รวมถึงตอนนี้เราก็กำลังจะผลักดันให้สิ่งที่เราคิดทำช่วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือไปช่วยเศรษฐกิจไทย หรือการลงทุนไหลเข้ามาในประเทศไทย” นายสมโภชน์ย้ำ
SMEs ติดกับดอกเบี้ย
ด้านนายนรเทพ บุญเก็บ เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้เรียกว่าฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่อง “ดอกเบี้ย” เป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งยังมีปัจจัยจากต่างประเทศ อาทิ แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม กำแพงภาษีต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะต้องปรับตัว
“เอสเอ็มอีเกินกว่าร้อยละ 80 ต้องอาศัยแหล่งทุนสถาบันการเงิน แม้เราพยายามจะหาแหล่งทุนอื่น ๆ อาทิ กองทุน แต่ก็ขาดหลักประกัน ยังมีบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หันไปหาเงินนอกระบบอีก ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ เรื่องดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของนายกรัฐมนตรี”
เรื่องต่อมาที่ควรจัดการคือ ตลาดของเอสเอ็มอีที่เปิดกว้างให้กับสินค้าไทยไปอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่บริเวณชายแดน
“ช่วง 6 เดือน การทำงานของรัฐบาล ผมเห็นความตั้งใจที่พยายามไปหาเอสเอ็มอีในส่วนภูมิภาค หรือการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ เกี่ยวโยงกับเอสเอ็มอีโดยตรง ซึ่งอยากให้การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องที่นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของสมาพันธ์เอสเอ็มอีล่าสุดได้ข้อสรุปว่า ถ้านายกรัฐมนตรีเดินทางไปภาคไหน หรือจังหวัดใด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรเดินทางไปด้วยกัน เพื่อบอกถึงปัญหาและความต้องการของเอสเอ็มอีในพื้นที่”
นายนรเทพกล่าวถึงเรื่องการทำตลาดซอฟต์พาวเวอร์ เช่น กรณีผ้าขาวม้าของไทยจะทำอย่างไรให้คนอยากใช้โดยไม่รู้ตัว เหมือนเวลาดูซีรีส์เกาหลี ก็อยากใช้สินค้าจากเกาหลี ไม่ว่าจะเครื่องสำอาง ฟังเพลง เป็นต้น อยากให้สินค้าของประเทศไทยเป็นอย่างนั้น จะเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้อย่างมาก
เร่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ด้านนางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า หน้าที่หลักของ Accenture คือช่วยลูกค้าให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งในแง่การประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร เพิ่มประสิทธิภาพ และค้นหาธุรกิจใหม่ ๆ โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
“เราเริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษาในเรื่องยุทธศาสตร์ มองภาพไปข้างหน้า และช่วยในเรื่องของการนำเอาไอทีมาปรับใช้งาน
วันนี้ต้องบอกว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์ ไม่ใช่ว่าใครปรับได้เร็วแล้วได้ แต่วันนี้ต้องบอกว่าผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ทำอย่างไรเราจะมีบริการ และผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเฉพาะตัว Customization ให้ลูกค้าได้มากที่สุด ถ้ายังไม่ได้ปรับตัว ยังทำแบบเดิม ๆ การฝ่าวิกฤตวันนี้ต้องบอกว่าเราจะแพ้ภัยตัวเอง เพราะจะมีธุรกิจที่ไปข้างหน้าเร็วกว่า รู้จักนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ แล้วก็รู้จักลูกค้าของเราดีกว่า เราก็จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า”
แม้ว่า “ลูกค้า” จะคือหัวใจสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีโปรดักต์อย่างเดียวเอามาเสิร์ฟลูกค้าเหมือนกันทั้งหมดได้ แต่จะต้อง Customized Product เข้าใจถึงความต้องการของเขาให้ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ Accenture ประเทศไทย จึงเลือกที่จะดิสรัปต์ตัวเองก่อน โดยเพิ่มภารกิจใหม่ ธุรกิจใหม่ ในการเข้าไปดูระบบและข้อมูลหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบปฏิบัติการ การเงิน ระบบจัดการทรัพยากรบุคคล รวมกระทั่งการตลาด จากเดิมให้คำปรึกษา และช่วยนำเทคโนโลยีไอทีมาปรับใช้ให้ลูกค้า
เชื่อมสินค้าท้องถิ่นกับตลาดโลก
นายดนันท์ สุภัทรพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ระบบโลจิสติกส์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไปรษณีย์ไทยทำหน้าดังกล่าวในฐานะผู้นำด้านโลจิสติกส์ในการพัฒนาระบบขนส่งที่สะดวกสบายเพื่อให้สินค้าต่าง ๆ กระจายออกไปถึงแหล่งการผลิตต่าง ๆ ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม และถึงมือผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และสะดวก ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ยังเชื่อมโยงไปในประเทศต่าง ๆ ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันสินค้าพื้นเมือง สินค้าโอท็อปของไทยให้เติบโต และก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้
ด้านนายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน แสดงความเห็นว่า ภาพรวมในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธุรกิจรับสร้างบ้านยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยเฉพาะในบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท มียอดสั่งสร้างค่อนข้างจะลดลง แม้ยังพอจะมีแรงซื้อจากบ้านที่มากกว่า 5 ล้านบาทเข้ามาถัว จึงอยากวอนให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และอยากวิงวอนให้ธนาคารเอกชนที่ปล่อยกู้ให้ผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มอัตราดอกเบี้ยบวกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มากนัก เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าได้