แผนภาพรวมพัฒนา EEC จากไทยแลนด์ 4.0 สู่เป้าหมายนักลงทุน

EEC

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดทำ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะ

1) ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2) สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สำหรับการดึงดูดการลงทุน

ADVERTISMENT

3) ให้มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ เพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มการขนส่งทางรางและทางน้ำให้ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอ

4) มีการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ เหมาะสมกับการอยู่อาศัยอย่างสะดวกปลอดภัยเข้าถึงได้ทั่วหน้า

และ 5) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ภัยธรรมชาติ ภัยจากโรคอุบัติใหม่และพฤติกรรมของคนในสังคม

ADVERTISMENT

แผนภาพรวมแรกปี 2560-2565

ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 29 กำหนดให้ สกพอ.จัดทํานโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีการจัดทำแผนภาพรวมมาแล้ว 1 ครั้ง ระหว่างปี 2560-2565 การจัดทำแผนภาพรวมคราวนั้น กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะเป็น “ต้นแบบ” การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศพัฒนาโดยเร็วที่สุด

ผลของการพัฒนาสามารถยกระดับการลงทุนในทุกด้านไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก (2560-2565) เกิดเป็นฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เกิดการพัฒนาคน ความรู้และเทคโนโลยีให้ก้าวทันโลกอนาคต ด้วยการใช้ 6 แนวทางการพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค, การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว, การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ ศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์กลางทางการเงิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

ADVERTISMENT

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการให้เกิดการ “เร่ง” ที่จะขยายการลงทุนใหม่เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

graphic

มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนภาพรวม 2560-2565 ตามเป้าหมายการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ได้แก่ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนใน 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 661,012 ล้านบาท แบ่งเป็น รัฐร่วมลงทุน 238,542 ล้านบาท กับเอกชนร่วมลงทุน 422,470 ล้านบาท, การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระหว่างปี 2561-2565 คิดเป็นมูลค่า 1,250,305 ล้านบาท และ งบประมาณของรัฐบาล (งบฯบูรณาการ EEC ระหว่างปี 2561-2565) จำนวน 70,271 ล้านบาท เมื่อรวมทั้ง EEC 0.1% กับงบฯบูรณาการ 5% ปรากฏมีการอนุมัติการลงทุนไปแล้ว 2 ล้านล้านบาท หรือเกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท

วิสัยทัศน์ใหม่ EEC เป้าหมายนักลงทุน

สำหรับแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 กำหนดกรอบแนวคิดในการพัฒนามีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ครอบคลุม 5 มิติ ประกอบไปด้วย สังคม-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สันติภาพ/สถาบัน และหุ้นส่วนการพัฒนา ทว่าภายใต้การดำเนินการตามแผนภาพรวมฉบับแรก (2560-2565) โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากบริบท 6 ด้านของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยลง, การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกและการเกิดสงคราม, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย, Disruptive Technology และสถานการณ์โรคอุบัติใหม่

ดังนั้น ในแผนภาพรวมฉบับปี 2566-2570 จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็น “ต้นแบบ” การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้การลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้น และประชากรในพื้นที่ EEC มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ได้แก่

จำนวนเงินการลงทุนจริงในพื้นที่ EEC 500,000 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ EEC ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.3 และดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index หรือ HAI) ของ EEC จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ดัชนีย่อยด้านชีวิตการงาน ต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 กับดัชนีย่อยด้านเศรษฐกิจ ต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2

ยืน 5 คลัสเตอร์ต้นแบบพัฒนา

ด้าน นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้กล่าวในช่วงการรับฟังความคิดเห็นของ แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 ว่า มีการกำหนดกรอบของแผนงานหลัก หรือ แนวทางการพัฒนาไว้ 5 ด้าน คือ

1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต จะมีการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนากฎระเบียบและข้อบังคับให้เอื้อกับการลงทุน การพัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน และการสร้างปัจจัยในการลงทุนต่อเนื่อง/การลงทุนใหม่ ด้วยการส่งเสริมการวิจัยในเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลงทุนยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จะต้องเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้งหมด การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง การพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้ทันสมัย การพัฒนาระบบขนส่งระดับรองเชื่อมโยงการขนส่งหลัก การพัฒนาและส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคให้มีคุณภาพ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

3) การยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลการจ้างงาน การพัฒนาผลิตภาพแรงงานของอุตสาหกรรมหลัก และขยายผลต่อยอดการยกระดับทักษะด้านบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่ EEC ตามหลัก Demand Driven

4) การพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน การส่งเสริมการพัฒนาเมืองน่าอยู่ให้เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีสมดุล การเพิ่มขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน

5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ EEC ให้เข้าสู่ Supply Chain ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การพัฒนาภาคการเกษตรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ตลาดต้องการ การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และชุมชนที่มีอัตลักษณ์ให้มีคุณค่าสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง และการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

สำหรับโครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นภายใต้แผนภาพรวมปี 2566-2570 อาทิ โครงการพัฒนาความพร้อมพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC), โครงการพัฒนากฎระเบียบและข้อบังคับให้เอื้อต่อการลงทุน, โครงการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร EEC OSS, แผนงานเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ, โครงการพัฒนาระบบขนส่งระดับรองเชื่อมโยงการขนส่งหลัก, โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd), โครงการพัฒนาท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ), โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ, โครงการพัฒนายกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่นำร่อง EEC และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ EEC ให้เข้าสู่ Supply Chain ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โครงการ EEC ต้องชัดเจนและต่อเนื่อง

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นต่อ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 ขอให้ 1) มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนในเรื่องของการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็น 1 ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อ EEC 2) ให้มีการปรับตัวชี้วัดและเป้าหมาย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคและการแก้ไขที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 3) ให้เพิ่มแนวทางการชี้วัด “ประชากรแฝง” และความยั่งยืนของชุมชนที่มีอยู่ใน EEC ปัจจุบัน 4) การมีจำนวนสถานีรถไฟ เป็นจำนวนมากระหว่างทางเชื่อมสถานีรถไฟถึงสนามบิน อาจจะส่งผลกระทบทำให้รถไฟไม่สามารถทำความเร็วได้อย่างเต็มที่ 5) ให้รักษาความชัดเจนและความต่อเนื่องในโครงการ EEC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ และ 6) ให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน