สแกนอีอีซีโค้งแรกปี’67 ไฮสปีดยังติดล็อก มู้ดลงทุนใหม่แผ่ว

EEC-invest

การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เป็นนโยบายต่อเนื่องสมัยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ต่อเนื่องมายังนายกฯเศรษฐา หากสำเร็จส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนของธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่อีอีซี ทั้ง จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การลงทุน ระยะยาว ตามเป้าหมาย ปี 2566-2570 ใน 5 คลัสเตอร์ คือ ยานยนต์ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ BCG และการแพทย์

ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวถึงความคืบหน้าของ 4 โครงการ โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ว่า โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เตรียมงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ

ซึ่งตามแผนระหว่างปี 2567-2570 จะเป็นช่วงของการก่อสร้างสนามบินและการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานและการรับส่งสนามบินสำหรับสนามบินใหม่ รวมถึงการขยายสถานี (Operational Readiness and Airport Transfer : ORAT) จากนั้นในปี 2571 จะเปิดให้บริการทางวิ่งใหม่และเทอร์มินอล 2

อัพเดตความคืบหน้า 2 ท่าเรือ

ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขณะนี้เป็นงานก่อสร้างทางทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างแผนคือช่วงปี 2567-2570 โดยการก่อสร้างรวมแล้วคืบหน้าพอสมควร และจะส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ภายในเดือนมิถุนายน 2567

และการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (ถมทะเล) แล้วเสร็จ 73.01% คาดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 ในระหว่างปี 2567-2569 จะทยอยก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือก่อสร้างระบบป้องกันมลพิษ และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับการพัฒนาในเฟสต่อไป พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2570

เอราวัน ยื่นบีโอไอทัน 22 พ.ค.นี้

แต่ที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญา บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งจะต้องยื่นเอกสารเพื่อขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นี้ จากนั้นจะเริ่มการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จ

ตาราง การเติบโต

อย่างไรก็ตาม หากเอราวัณยังไม่ยื่นเอกสารต่อบีโอไอ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการลงทุนอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าโครงการรอบ ๆ ตามเส้นทางของสถานีไฮสปีดที่ได้เตรียมลงทุนก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการกระจายความเป็นเมือง ก็ย่อมได้รับผลกระทบหากโครงการล่าช้า

ธุรกิจตั้งใหม่ Q1 แผ่ว

อีกด้านหนึ่ง นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในพื้นที่อีอีซี ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีจำนวน 2,876 ราย ลดลง 0.28% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 2,884 ราย โดยมีทุนจดทะเบียน 12,439.88 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 20.42% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 12,439.88 ล้านบาท โดยสัดส่วน 75.87% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในจังหวัดชลบุรี 2,211 ราย โดยส่วนใหญ่การจัดตั้งเป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 61.09% รองลงมาคือ การขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.32% และการผลิต คิดเป็น 14.59%

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะการดำเนินธุรกิจ ในพื้นทีอีอีซี มีจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ ณ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 88,368 ราย ทุนจดทะเบียน 1,741,031.22 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 63,826 ราย คิดเป็น 72.23% จ.ระยอง 16,925 ราย คิดเป็น 19.15% และ จ.ฉะเชิงเทรา 7,617 ราย คิดเป็น 8.62%

ท็อป 3 ธุรกิจ สุดบูมในอีอีซี

สำหรับธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ที่มี จำนวนสูงสุด 3 อันดับ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ภาคการผลิต 1) ธุรกิจกลึงกัดไสโลหะ จำนวน 992 ราย มีรายได้ 12,248.52 ล้านบาท 2) ธุรกิจติดตั้งเครื่องจักร อุตสาหกรรมและอุปกรณ์ จำนวน 689 ราย มีรายได้ 8,574.93 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริม สำหรับยานยนต์ จำนวน 612 ราย มีรายได้ 862,493.05 ล้านบาท

ขณะที่ภาคธุรกิจขายส่ง/ปลีก แบ่งเป็น 1) ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรอื่น ๆ จำนวน 1,699 ราย มีรายได้ 28,292.62 ล้านบาท 2) ธุรกิจขายส่ง เครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม จำนวน 1,209 ราย มีรายได้ 18,483.57 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจขาย ปลีกวัสดุก่อสร้าง จำนวน 959 ราย มีรายได้ 39,787.65 ล้านบาท

ส่วนภาคธุรกิจบริการ ประกอบด้วย 1) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 16,469 ราย มีรายได้ 50,374.41 ล้านบาท 2) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 5,855 ราย มีรายได้ 55,903.85 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 2,806 ราย มีรายได้ 5,669.58 ล้านบาท

“ญี่ปุ่น” ครองแชมป์ลงทุนอีอีซี

หากตรวจสอบลงไปในส่วนของการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ โดยมีทุนต่างที่ถือหุ้นในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 56.94% ของทุนทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ ธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่น มีสัดส่วนมากที่สุด 39.88% โดยประเภทธุรกิจที่มาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ 1.ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 82,676.31 ล้านบาท

2.ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าการลงทุน 38,667.31 ล้านบาท 3.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 31,797.31 ล้านบาท

รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 17.24% ธุรกิจที่ลงทุนมากสุด คือ 1.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 16,519.83 ล้านบาท 2.ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 16,243.06 ล้านบาท 3.การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า มูลค่าการลงทุน 12,668.25 ล้านบาท

และสิงคโปร์ มาเป็นอันดับที่ 3 มีสัดส่วนคิดเป็น 7.30% โดยมีการลงทุน 1.ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 16,061.23 ล้านบาท 2.ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 7,086.52 ล้านบาท 3.ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 4,818.10 ล้านบาท โดยนักลงทุนทั้ง 3 ประเทศมีการเข้าลงทุนในจังหวัดระยอง สูงสุดคิดเป็น 50.49%

ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายการลงทุนในอีอีซี เกิดจากความชัดเจนของการดำเนินนโยบายของรัฐที่ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตในระดับภูมิภาค รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมใหม่ในอีอีซี

แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โครงสร้างพื้นที่ฐานที่เป็นกระดูกสันหลังของอีอีซี ทั้ง 4 โครงการก็จะมีส่วนหนุนให้นักลงทุนต่างชาติเห็นถึงศักยภาพของอีอีซีในการเป็นจุดศูนย์กลางการลงทุน ที่จะเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นในทั้งในและนอกอาเซียนด้วย