เปิดผลสรุป สทนช. ยืนยันผลตรวจสารเคมีรั่วลงสู่แม่น้ำคาน ไม่กระทบคุณภาพแม่น้ำโขง

สทนช. ติดตามสารเคมีรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน สปป.ลาว ประสาน MRCS ดำเนินการตอบสนองและจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ ของระเบียบปฏิบัติด้านคุณภาพน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมตรวจสอบคุณภาพน้ำ พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน ยืนยันไม่มีผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งมีชีวิตทางน้ำของประเทศด้านท้ายน้ำแม่น้ำโขงตอนล่าง

วันที่ 11 เมษายน 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้มีหนังสือที่ No. L-MRCS (ED) 243/24 ลงวันที่ 8 เมษายน 2567 รายงานสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์สารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำคาน สาขาของแม่น้ำโขง ว่า

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจัดเป็นสถานการณ์รุนแรงเล็กน้อย และได้มีการดำเนินการป้องกันตามแนวทางปฏิบัติการตอบสนองและจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำฯ ส่งผลให้ไม่มีสารเคมีไหลลงแม่น้ำคาน ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำข้ามพรมแดนในแม่น้ำโขงตอนล่าง ใน สปป.ลาว และประเทศท้ายน้ำต่าง ๆ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ทำให้กรดซัลฟิวริกหนัก 30 ตันรั่วไหลลงสู่คลอง บริเวณหมู่บ้านพูช้างคำ (Ban Phou Xang Kham) แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระยะห่างจากแม่น้ำคานประมาณ 300 เมตร และห่างจุดบรรจบแม่น้ำโขงประมาณ 6 กิโลเมตร รวมทั้งระยะห่างจากสถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ประเทศไทย ประมาณ 300 กิโลเมตร

สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติด้านคุณภาพน้ำร่วมกับได้ออกประกาศ สทนช. ฉบับที่ 1/2567 ลงวันที่ 5 เมษายน 2567 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำพร้อมรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งยัง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งได้ประสานกรมควบคุมมลพิษและเขื่อนไซยะบุรี เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง และขอให้จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ

รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2567 จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

สำหรับการดำเนินการของ MRCS เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของบทที่ 4 : การตอบสนองและจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำของระเบียบปฏิบัติด้านคุณภาพน้ำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Procedures of Water Quality : PWQ)

โดยในวันที่ 7 และ 8 เมษายน 2567 MRCS ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ สปป.ลาว สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป.ลาว (LNMCS) สถาบันวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ MRCS ณ สถานที่เกิดเหตุ หมู่บ้านพูช้างคำ (Ban Phou Xang Kham) และสำรวจพื้นที่ภาคสนามบริเวณแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง

เพื่อประเมินมาตรการตอบสนองภาวะฉุกเฉินและผลกระทบต่อแม่น้ำดังกล่าว ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าตามมาตรการตอบสนองภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ

ซึ่งได้มีการสร้างแนวกั้นในคลอง (Barrier) ป้องกันน้ำค่า pH ต่ำ และ EC สูง ระบายลงสู่แม่น้ำคาน และการใช้แคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)2) เพื่อทำให้น้ำที่เป็นกรดกลายเป็นกลาง มีผลในการควบคุมสารเคมีที่รั่วไหลภายในคลอง/ทางระบายน้ำ/ร่องน้ำ (Canal) และป้องกันการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน นับว่ามีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ในการควบคุมการรั่วไหลของสารเคมีภายในคลองระบาย และป้องกันการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำโขงสายหลัก

ผลสรุป สทนช.