ไฟฟ้านิวเคลียร์ ‘SMR’ มาแน่ 300 MW เตรียมเผยร่าง PDP2024 มิ.ย. 67

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

ปลัดพลังงานยืนยันร่าง PDP2024 พร้อม เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ มิ.ย. 67 แง้มเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 50%-เดินหน้าผุดไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR-ไฮโดรเจน ยึด 3 หลักพลังงาน มั่นคง-เข้าถึงได้-ยั่งยืน เดินหน้าประเทศไทยสู่ Net Zero

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแผนพลังงานชาติ เปิดเผยว่า คณะได้เห็นชอบร่างแผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพลังงานชาติฉบับล่าสุด (National Energy Plan 2024) แล้ว คาดว่า ต้นเดือนมิถุนายน 2567 จะเปิดประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปประกอบและปรับปรุงเป็นแผนพลังงานที่สมบูรณ์มากขึ้น จากนั้นก็เตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

PDP2024 หนุนพลังงานหมุนเวียน 50%

นายประเสริฐกล่าวว่า เรายังเน้น 3 หลักสำคัญทางพลังงาน ได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน ต้องสามารถจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เพียงพอต่อความต้องการใช้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตอนนี้ที่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ขายดิบขายดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เราก็ต้องมีไฟฟ้าที่รองรับ และยิ่งตอนนี้พฤติกรรมของผู้ใช้รถอีวี นิยมชาร์จแบตเตอรี่ในตอนกลางคืน ก็ยิ่งต้องบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้า

ต่อมาคือเรื่องการตอบโจทย์ภาวะโลกร้อน ที่ประเทศไทยเรายืนยันที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฉะนั้น จะมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง กพช. เห็นชอบแล้วตั้งแต่ปี 2564 ว่าควรจะต้องมีพลังงานหมุนเวียน 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP2018

“ส่วนใหญ่ถ้าดูตามเมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์จะเข้ามาเยอะ รองลงมาคือพลังงานลม ซึ่งทั้งสองพลังงานนี้ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ราคาไม่แพง โดยพลังงานโซลาร์จะใช้ในตอนกลางวัน และพลังงานลมจะมาช่วงหัวค่ำถึงกลางคืน พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพต่าง ๆ ต้องดูตามศักยภาพ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน”

Advertisment

โดยข้อมูลจากรายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 สรุปสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ระบุว่า กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอยู่ที่ 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% จากกำลังการผลิตทั่วประเทศ

และอย่างสุดท้ายคือ ราคา เราก็พยายามวิเคราะห์หลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 3 หลักสำคัญนี้ ซึ่งคาดว่าราคาพลังงานในแผน PDP2024 มีโอกาสที่จะถูกกว่า PDP2018

จุดพลุ SMR มาแน่

นอกจากการปรับสัดส่วนกำลังผลิตแล้ว ยังมีเรื่องพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งวางไว้ประมาณ 5% และคาดว่า ตั้งแต่ปี 2573 จะเริ่มใช้พลังงานไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า และมีอีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญอย่างพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactors (SMR) ซึ่งบรรจุไว้ในปลายแผน PDP2024 ระหว่างปี 2577-2580 จำนวน 3 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละประมาณ 100 เมกะวัตต์ รวม 300 เมกะวัตต์

” SMR 300 เมกะวัตต์ถือว่าสัดส่วนไม่มาก หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมขนาดเล็ก (SPP Cogenogen จำนวน 3 เครื่องเท่านั้น โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีรายละเอียดความชัดเจนอีกครั้ง เพราะกว่าจะทำก็จะเป็นช่วงปลายแผน PDP”

Advertisment
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
ภาพจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ภาพจาก : กฟผ.

ทั้งนี้ เทคโนโลยี SMR จะตอบโจทย์ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ราคา และความมั่นคง ทว่าก็ยังมีข้อกังวลเรื่อง การยอมรับของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น เป็นสิ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานต้องมาร่วมกันกำกับดูแลมาตรฐานเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่าเทคโนโลยี SMR ไม่ได้มีโทษหรือผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน

สำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เนื่องจากวัสดุและชิ้นส่วนสำคัญส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ภายในโรงงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนขนาด ราคาและการใช้งานปลายทางได้ รวมถึงยังลดระยะเวลาการก่อสร้างและสามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่