WHAจัดทัพลุยธุรกิจใหม่ ปั้น”ดิจิทัล”รับอาลีบาบา

จรีพร จารุกรสกุล

เปิดแผนลงทุน 43,000 ล้านบาทกับ 4 กลุ่มธุรกิจหลักของ WHA พร้อมวางเป้าหมาย The Year of Eagle Eye มุ่งสู่เทรนด์โลกใหม่ ธุรกิจใหม่ ๆ ศึกษาการทำเมืองใหม่ “สมาร์ทซิตี้” เชื่อมนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งใน EEC แง้มอาลีบาบาทำไมเลือกลงทุนในที่ดินนอกนิคมของ WHA พร้อมคืบหน้านิคม IRPC

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์เปอเรชั่น หรือ WHA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการลงทุนปีนี้จะอยู่ที่ 6,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เงินลงทุนไป 5,000 ล้านบาท การลงทุนของกลุ่มเป็นไปตามกรอบเงินลงทุน 5 ปี ที่ตั้งไว้43,000 ล้านบาท แต่ละโครงการในแต่ละปีจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม มีทั้งนิคมอุตสาหกรรม-โครงการสมาร์ทซิตี้ และโปรเจ็กต์ residential ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งอยู่ปีนี้ถือเป็นปี The year of EagleEye ซึ่ง WHA ประกาศมาตลอดว่าเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไปทำให้เราต้องปรับแผนธุรกิจเป็น 4 ธุรกิจกลุ่มหลัก(hubs) ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ (logistics), กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (industrial development), กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า (utilities & power business) และกลุ่มธุรกิจดิจิทัล (digital platform)

“ที่ว่า Eagle Eye หมายถึง การมองไกล ซึ่ง WHA เตรียมตัวมาตลอดตั้งแต่ซื้อเหมราช เราจะอยู่ที่เดิมกับธุรกิจโลจิสติกส์-สร้างอาคาร/คลังสินค้าและให้เช่าไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวเพื่ออนาคตที่โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว จะไม่ตกเทรนด์ และจากฐานธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มที่มั่นคง ต่อไปเราจะบินสู่อนาคตของธุรกิจใหม่ ๆ”

4 กลุ่มธุรกิจมุ่งสู่ดิจิทัล

WHA เริ่มต้นมาจากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เมื่อ 15 ปีก่อน ในรูปแบบของการพัฒนาอาคารและให้เช่า ต่อมาถือเป็นการลงทุนแบบก้าวกระโดดของกลุ่มนั้นก็คือ การเข้าไปซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ทำให้ทางกลุ่มมีนิคมอุตสาหกรรมถึง 11 แห่ง โดย 9 นิคม มีเนื้อที่รวมกัน 9,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และทั้งหมดนี้ได้รับการประกาศเป็น เขตส่งเสริมพิเศษอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เรียบร้อยแล้ว

ด้านกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า บริษัทดำเนินการอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ การจัดหาน้ำดิบให้กับลูกค้าในนิคมกับการบำบัดน้ำเสีย ส่วนอีกธุรกิจหนึ่งก็คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าแบบ IPP และ SPP ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยบริษัท WHA ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีกำลังผลิตน้ำรวมทั้งหมด 113 ล้าน ลบ.ม./ปี ผลิตไฟฟ้ารวม 509.6 เมกะวัตต์ (MW) ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะทำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) ในนิคมอุตสาหกรรม WHA เป็นพวกโรงไฟฟ้าจากขยะ-โซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ “เรามองเห็นเทรนด์ว่า ระบบไฟฟ้า smart grid จะต้องเกิดขึ้นแน่ รวมไปถึงการเก็บกักพลังงาน energy storage ด้วย เราไม่ได้มองการทำโรงไฟฟ้าแค่ 100 MW ในอนาคตเรามองเป็นระดับ 1,000 MW”น.ส.จรีพรกล่าว

ส่วนธุรกิจกลุ่มสุดท้ายในขณะนี้ก็คือ กลุ่มดิจิทัล จะเน้นไปที่ศูนย์ข้อมูล data center 3 แห่ง ล่าสุดได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทซุปเปอร์แนป (ร้อยละ 15-WHA อินโฟนิท) ดำเนินธุรกิจ data center และ server colocation ทำให้ WHA ครอบคลุมทุก data center แล้ว “WHA เห็นว่า digital economic จะมีความสำคัญกับธุรกิจหลักของกลุ่มทั้ง 4 ธุรกิจ ต่อไปเราจะเชื่อมโยงกันอย่างไร เรื่องดิจิทัลเรามองเรื่องของการบริการ หรือ service ด้วย”

ความคืบหน้าดีลอาลีบาบา

“ก็อย่างที่เป็นข่าวออกมาแล้ว” ความจริงตั้งแต่ปี 2560 แล้วว่า อาลีบาบาต้องใช้ประเทศไทยเป็นฐานแน่ สำหรับธุรกิจหลัก e-Commerce ของเขา พอมาถึงปี 2561 ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เนื่องจากWHA ประสานกับอาลีบาบามาตลอด โดยอาลีบาบาจะใช้ไทยเป็นฐานเพื่อการส่งออกสินค้าพวก SMEs โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ขณะที่ใช้มาเลเซียเป็นฐานนำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามา ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นฐานหลักของอาลีบาบาที่จะส่งสินค้าไปที่อินโดจีน-ฮ่องกง

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมอาลีบาบาถึงเลือก WHA ในประเด็นนี้ น.ส.จรีพรกล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาในประเทศไทยตอนนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องของโลจิสติกส์ ทุกคนต้องบอก WHA เพราะ WHA สามารถ supply ในเรื่องของข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์-การออกแบบดีไซน์ได้ทั้งหมด

“ที่เขาเลือกเราก็เพราะ WHA ตอบโจทย์ของอาลีบาบาได้ทั้งหมด คุณต้องการอะไร เราสามารถออกแบบดีไซน์ให้ได้หมด ตัวสถานที่ตั้ง location ที่เหมาะสมการออกแบบระบบคลัง อาลีบาบาไม่ใช่แค่ต้องการพื้นที่แค่พันตารางเมตร แต่เขาต้องการเป็นแสน ๆ ตารางเมตร ถามว่า เขาจะไปใช้บริการกับ no name รึเปล่าก็คงไม่ใช่ แล้วอาลีบาบาไม่ใช้นิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นธุรกิจทางด้านโลจิสติกส์จึงไม่ต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม แต่มันต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่ตอบโจทย์ของโลจิสติกส์ได้” น.ส.จรีพรกล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าวล่าสุดที่มีออกมา ปรากฏกลุ่มอาลีบาบาเลือกที่จะใช้พื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่ม WHA ในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น location เหนือสนามบินสุวรรณภูมิ และสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมสายหลัก รวมทั้งการเชื่อมโยงกับ 3 สนามบินตามแนวรถไฟความเร็วสูงได้ด้วย

นิคมใหม่กับ IRPC 

ล่าสุด WHA จะทำนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) ในพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในจำนวนนี้ประมาณ 1,000 ไร่ จะทำเรื่องของอุตสาหกรรมเก็บกักพลังงาน (energy storage) อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียม เนื่องจากที่ดินของนิคมที่ อ.บ้านค่าย ไม่เหมาะที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ คิดว่าน่าจะเสร็จปลายปี 2562 และจะเปิดขายพื้นที่นิคมใหม่ได้ในปี 2563

“ราคาที่ดินใน EEC ที่ปรับขึ้นมาขณะนี้ ทางเราไม่ได้รับผลกระทบอย่างใด จากการที่เรามีที่ดินที่พร้อมขายใน EEC มากกว่า 10,000 ไร่ (จากทั้งหมด 40,000 ไร่ทั่วประเทศ) โดยเป็นที่ของ WHA เอง ประมาณ 9,000 ไร่ และได้มาเพิ่มจาก IRPC อีก 2,000 ไร่ หากเราตั้งเป้าขายที่ดินปีละ 1,000 ไร่ ก็จะยาวไปอีก 10 ปี ตอนนี้คนที่ซื้อที่ดินเยอะ ๆ ก็อาจจะสะเทือนบ้าง แต่ของ WHA ซื้อเพื่อมาทำนิคม การปรับราคาขายที่สูง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว การปรับขึ้นราคาที่ดินในนิคมต้องมีความเหมาะสม โดย 2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในนิคมก็ปรับขึ้นไปเกือบ 30% จากเดิมเราปรับปีละ 4-5% ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านที่มีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกันเราถือว่าถูกกว่า ปีนี้ยอดโอนที่ดินของ WHA น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ไร่ ราคาที่ดินในนิคมต้นทุนจริงอยู่ระหว่าง 30-40% ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน”