นายกฯ Kick Off ร้านค้าใช้โทรศัพท์มือถือรับชำระค่าสินค้า จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“พาณิชย์” เชิญนายกรัฐมนตรีเปิดตัวโครงการร้านค้าใช้โทรศัพท์มือถือรับชำระค่าสินค้า จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เผยเป็นโครงการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมจากเฟสแรกที่ผู้ถือบัตรต้องซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตร EDC แต่จากนี้ไป จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น ตั้งเป้าดึงร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เข้าร่วม 1-2 แสนราย มั่นใจช่วยชุบชีวิตโชวห่วยและขับเคลื่อนฐานราก ระบุมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน พร้อมโชว์ร้านธงฟ้าประชารัฐต้นแบบ จัดบูธนำสินค้าเด่นชุมชนมาจำหน่าย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานเปิดตัว “โครงการประชารัฐสวัสดิการกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 1 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดตัวโครงการใช้โทรศัพท์มือถือรับชำระเงินจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” ซึ่งกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทยจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและให้ความช่วยเหลือร้านโชวห่วย ร้านค้ารายย่อยให้อยู่รอดมีรายได้เพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวน 11.43 ล้านคน โดยได้ผลักดันเปิดร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้เป็นที่จำหน่ายสินค้า อุปโภค บริโภคราคาถูก ให้กับผู้ถือบัตรในระยะแรกและมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC ให้กับร้านค้าไปแล้วประมาณ 38,000 ร้านค้า ซึ่งผลการดำเนินการพบว่า ยังมีร้านค้าต้องการเข้าร่วมโครงการ และผู้ถือบัตรต้องการให้มีร้านค้ากระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิดโครงการรับชำระเงินโดยใช้มือถือรับชำระค่าสินค้าจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการใช้มือถือรับชำระค่าสินค้านั้น ได้เปิดโอกาสให้กับร้านค้าเกือบทุกประเภท ทั้งร้านค้ารายย่อย ร้านโชวห่วย แผงค้าในตลาดสด ทั้งแผงหมู แผงผัก แผงผลไม้ ร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ร้านหนูณิชย์ ผู้ค้าในตลาดต้องชม ตลาดกลางสินค้าเกษตร ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน รถยนต์เร่ขายสินค้า เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มร้านค้าอีกจำนวน 1-2 แสนราย ซึ่งขณะนี้ได้จัดส่งทีมงาน ลงพื้นที่เพื่อระดมรับสมัครร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว และล่าสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20,000 ราย

“การดำเนินโครงการนี้ จะช่วยให้ร้านโชวห่วย ผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ซึ่งแต่เดิมมองกันว่าหมดหวัง ไม่มีทางฟื้น แต่วันนี้จากนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล ทำให้ผู้ค้าเหล่านี้ฟื้นคืนชีพ สามารถพัฒนาตนเองให้อยู่รอด มีความเข้มแข็ง อย่างมั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นการกระจายความเจริญเติบโตเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศได้” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้สร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้สามารถแข่งขันได้และเป็นร้านค้ามืออาชีพ โดยประสานผู้ผลิตรายย่อย ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ผู้ผลิตสินค้าเกษตรจากแต่ละภาค ให้มีการเชื่อมโยงทั้งภายในและระหว่างภาค ผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยที่ผ่านมาได้มีการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแล้ว อาทิ กะปิ น้ำปลา ปลากรอบ ลำไย และสับปะรด ซึ่งกะปิจากจังหวัดระนองมียอดจำหน่ายกว่า 700,000 บาท ภายในวันเดียว

นอกจากนี้ มีโครงการยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่แต่ละจังหวัดจัดอบรมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยหลักสูตรการอบรมเบื้องต้น คือ เรื่องภาษี การบริหารจัดการร้านค้า การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การจัดการสินค้าคงคลัง เทคนิคการขาย การส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น เพื่อพัฒนาให้ร้านค้าเหล่านี้เป็นมืออาชีพ

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 3,000 คน ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เช่น ประชาชนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ที่ส่งสินค้าเข้าจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ, ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่สมัครเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ โดยใช้ Mobile Application หรือที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC แล้ว รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าระดับจังหวัดและอำเภอ และผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่, สถาบันการศึกษาที่ร่วมมือในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสู่การเป็นมืออาชีพ

โดยกิจกรรมภายในงาน จะมีการนำร้านธงฟ้าประชารัฐต้นแบบสำหรับให้ร้านค้านำไปเป็นตัวอย่างในการจัดทำร้านธงฟ้าประชารัฐที่ได้มาตรฐานโดยให้มีสินค้าหลากหลายชนิด มีสินค้าชุมชน สินค้าธงฟ้าประชารัฐ, สินค้าชุมชนจากทั้ง 76 จังหวัดที่เป็นสินค้าที่นำมาจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐ รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีการเชื่อมโยง สินค้าเด่นนำร่องในบางพื้นที่ อาทิ เช่น กะปิระนอง กุ้งเสียบพังงา แต่ละคูหาจะมีสินค้าชุมชนในแต่ละกลุ่มจังหวัด, ร้านโชวห่วยไฮบริด ในการพัฒนา การส่งเสริมยกระดับร้านค้าไปสู่ร้านที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น และการสาธิตการซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตร EDC และโปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Application) รวมทั้ง จะมีการจัดเสวนาการใช้โปรแกรมประยุกต์ Mobile Application กับร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานมีความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย ขั้นตอน วิธีการ เงื่อนไข ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลกำหนดไว้