ก.เกษตรโหมข้าวโพดหลังนา กลัววืด-ให้พาณิชย์คงสัดส่วน 3:1 ข้าวสาลี

ก.เกษตรฯโหมโปรโมตปลูกข้าวโพดหลังนา หลังพบเกษตรกรร่วม 6.2 แสนไร่ 33 จังหวัดเสี่ยงวืดเป้าหมาย 2 ล้านไร่ พร้อมชงพาณิชย์คงมาตรการ 3 ต่อ 1-ด้าน บ.กรุงเทพโปรดิ๊วส เผยเกษตรกรแห่ร่วมโครงการข้าวโพดยั่งยืน บัลลังก์โมเดล อีกเท่าตัว เป็น 30,000 ไร่ คาดประกันราคาซื้อไม่ต่ำกว่า “ราคาตลาด” 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อติดตามการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งล่าสุดจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯพบว่า มีชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาปีนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พื้นที่ 6.2 แสนไร่ ใน 33 จังหวัด ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ 2 ล้านไร่ นายกฤษฎาจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจ และทำความเข้าใจ ชักชวนเกษตรกรมาปลูกข้าวโพดเพิ่มเติมอีกครั้งในเดือนนี้ โดยขอให้แต่ละจังหวัดตั้งคณะทำงาน ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ร่วมกับเกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด เจ้าหน้าที่จาก ธ.ก.ส. และมีเกษตรอำเภอเป็นเลขานุการ

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯจะทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ให้คงสัดส่วนการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน จะได้นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนด้วย เพื่อป้องกันราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวโพดหลังนา

หลังจากสำรวจเสร็จสิ้นจะเจรจากับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคม อาทิ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด ฯลฯ ช่วยรับซื้อผลผลิตผ่านตัวแทนบริษัทที่เป็นพ่อค้าท้องถิ่น โดยจะต้องตกลงกันในเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งจุดรับซื้อ ปริมาณรับซื้อ คุณภาพ ราคาที่จะรับซื้อตามความชื้นที่กำหนดออกมาภายในเดือนนี้ ก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดภายในวันที่ 15 มกราคม 2562 ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสินเชื่อระยะเวลา 4 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ต่อปี รวมทั้งการทำประกันภัยข้าวโพดไร่ละ 65 บาท

ส่วนราคารับซื้อเบื้องต้นยังคงประเมินว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ กก.ละ 8 บาท ความชื้น 14.5% ณ หน้าโรงงานอาหารสัตว์ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล แต่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปจัดทำตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่คงไม่น่าจะต่ำกว่า กก.ละ 5 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้กำไรไร่ละ 4,000 บาท

ด้านนายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลผลิตได้เพียง 4-5 ล้านตัน อีกทั้งเกษตรกรต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูง การใช้สารเคมี การบุกพื้นที่ป่า และขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ ทางบริษัทจึงได้ดำเนินโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2557 นำร่องที่ ต.วังไทร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และได้พัฒนาเป็นโครงการบัลลังก์โมเดลในปี 2559 โดยขยายความร่วมมือกับเกษตรกรตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา สำนักงานเกษตรอำเภอโนนไทย และสหกรณ์การเกษตร เพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สตก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 451 ราย พื้นที่ปลูก 13,500 ไร่ และล่าสุดในปี 2561 นี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 800 ราย มีพื้นที่ปลูก 30,000 ไร่ โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“โครงการนี้เข้าไปช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และหลักการเกษตรที่ดี หรือ GAP เข้าไป ช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 47% จาก 645 เป็น 1,011 กก.ต่อไร่ และช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง 25% จาก กก.ละ 6.09 เหลือ 4.55 บาท โดยในปีที่ผ่านมาสามารถขายตรงผลผลิตเข้าโรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟ ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 7.90 บาท ทำให้ชาวไร่มีกำไรจากการปลูก 3,800 บาท ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพาะปลูกในพื้นที่ถูกกฎหมายไม่บุกรุกป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้”

พร้อมกันนี้ บริษัทร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ซี.พี. พัฒนาแอปพลิเคชั่น “ช่วยปลูก” เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรวางแผนการปลูก จัดหาวัตถุดิบและเครื่องจักร-อุปกรณ์แจ้งเตือน รวมถึงข้อมูลการขาย โดยจะนำร่องใช้กับเกษตรกรใน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เป็นที่แรกในช่วงปลายปีนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถเกษตรกรให้พัฒนาคุณภาพสินค้า ลดต้นทุน สร้างรายได้มั่นคง ตามแนวทางเกษตรกรยุค 4.0

แหล่งข่าววงการอาหารสัตว์กล่าวว่า เมื่อปี 2560 นโยบายรัฐกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาข้าวโพด กก.ละ 8 บาท ในกรณีรับซื้อที่กรุงเทพฯ และหักลดตามระยะทาง ซึ่งทางกรุงเทพโปรดิ๊วสรับซื้อ กก.ละ 7.90 บาท ส่วนการกำหนดราคารับซื้อในปีนี้ยังไม่ได้สรุปตัวเลข เพราะเพิ่งปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะเก็บเกี่ยวปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาในช่วงเก็บเกี่ยวมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลง โดยหากช่วงเก็บเกี่ยวราคาข้าวโพดในตลาดสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ ทาง ซี.พี.จะซื้อตามราคาตลาดเป็นหลัก แต่หากช่วงดังกล่าวราคาข้าวโพดในตลาดต่ำกว่าจะกำหนดราคาประกันช่วย