การ์เมนต์ไทยอ่วมโดนหางเลข”อียู”เตรียมคว่ำบาตรสิ่งทอเขมร ยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

แฟ้มภาพ

โรงงานการ์เมนต์ไทยในกัมพูชา-เมียนมา “หนาว” สหภาพยุโรปจ่อออกมาตรการ “คว่ำบาตร” ยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี EBA สมาคมเครื่องนุ่งห่มไทยประเมินความเสียหายกลุ่มทุนไทย 11 ราย”ไนซ์กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่เสื้อกีฬาชี้ “ยังไม่กระทบ”

นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการด้านนโยบายการค้าของสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกคำแถลงการณ์ต่อรัฐมนตรีการค้า 28 ประเทศของอียู หลังการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ว่า ที่ประชุมมีมติให้เตรียม “เพิกถอน” การให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของกัมพูชาและเมียนมา ที่สามารถเข้าถึงตลาดการค้าของอียูได้อย่างเสรี เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนกำลังถดถอยอย่างรุนแรง และย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ดังกล่าว รวมถึงการ “ยกเว้น” การจัดเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธ (everything but arms : EBA) โดยกระบวนการเพิกถอนจะใช้เวลา 6 เดือนนับจากนี้ และมุ่งเป้าไปที่ประเทศกัมพูชาก่อน

ขณะที่ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวระหว่างการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ว่า “กัมพูชาจะไม่ยอมรับข้อเสนอใด ๆ จากต่างชาติเพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือ เรามีคู่ค้ารายใหญ่และมีอำนาจมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จีน และวันนี้เรากำลังเพิ่มความแข็งแกร่งทางการค้าร่วมกับญี่ปุ่น ดังนั้นไม่มีมาตรการใด ๆ จะต่อต้านความเข้มแข็งของกัมพูชาได้”

นอกจากนี้ นายฮุน เซน ยังกล่าวว่า ขณะนี้กัมพูชายังได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐ และหากในอนาคตสหรัฐต้องการกดดันกัมพูชาด้วยการใช้วิธีเดียวกันกับสหภาพยุโรป “เราก็ยังจะยืนหยัดในเส้นทางของตัวเองต่อไป”

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสภาธุรกิจสิ่งทอของกัมพูชา กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรนี้กำลังสร้างความวิตกกังวลต่อโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับแบรนด์ต่าง ๆ จากยุโรป เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนสูง 40% ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 30% เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 นอกจากนี้ผู้ประกอบการสิ่งทอยังวิตกกังวลกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 17 เหรียญสหรัฐหรือเป็น 170 เหรียญด้วย ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสิ่งทอของกัมพูชาเพิ่มขึ้น นอกจากที่จะถูกยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษี

ส.การ์เมนต์ประเมินผลกระทบ

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวถึงกรณีสหภาพยุโรปจะ “คว่ำบาตร” เมียนมาและกัมพูชาด้วยการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีว่า สมาคมอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในเมียนมา 5 ราย เป็นโรงงานสิ่งทอ 2 ราย และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 3 ราย และได้รับรายงานว่ากลุ่มสิ่งทอไม่ได้ส่งออกสินค้าไปตลาดยุโรป จึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มที่มีการส่งออกไปตลาดยุโรปนั้นเป็น เสื้อกีฬา ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในกัมพูชามีประมาณ 6 ราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมีอยู่ 3 รายที่ผลิตเสื้อกีฬาและส่งออกไปยุโรป

“สมาคมอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและประเมินตัวเลขว่า ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนใน 2 ประเทศกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาคว่ำบาตร ซึ่งอาจมีผลทำให้ต้นทุนสินค้าที่ส่งออกสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการอาจต้องปรับตัวเพื่อยังคงคำสั่งซื้อหรือตลาดไว้ ทำให้การส่งออกสินค้าไปตลาดอียูได้ โดยอาจจะต้องหารือกับผู้นำเข้าในการหาทางออกเรื่องนี้ เพราะถ้าถูกภาษีสูง สินค้าไทยก็จะมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือ GSP ด้วย ผู้ประกอบการอาจจะต้องย้ายคำสั่งซื้อไปยังฐานการผลิตที่ตนมีโรงงานอยู่ในประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว-เวียดนามแทน เพื่อให้ต้นทุนการส่งออกไม่สูงเกินไป” นายยุทธนากล่าว

ส่วนภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปต่างประเทศ สมาคมยังเชื่อมั่นว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปี 2562 จะขยายตัวได้ 8% จากปัจจัยเศรษฐกิจขยายตัวและยังมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ สมาคมจะประชุมหารือประเมินการค้า การส่งออก ตลอดจนปัจจัยบวกลบที่อาจจะส่งผลต่ออุตสาหกรรม

เบอร์ 1 สิ่งทอเขมรไม่หวั่น

ด้านนายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยุโรป ปัจจุบันโรงงานในกัมพูชาเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้ากีฬา 1 ใน 4 แห่งของบริษัท มีเป้าหมายเพื่อส่งออกตลาดสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีกำลังการผลิต 17 ล้านตัว/ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจากปีก่อนที่เคยผลิตได้ 13 ล้านตัวเพื่อส่งออกไปยังตลาดอียูเป็นหลัก เพราะกัมพูชาได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามโครงการ EBA (Everything But Arms) ตามกำหนดระยะเวลา 10 ปีจนถึงปี 2566

“ฐานผลิตในกัมพูชามีเป้าหมายหลักคือ การส่งออกไปตลาดอียู เพราะกัมพูชาเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด หรือ LDCs ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามโครงการ EBA (Everything But Arms) มีอายุโครงการ 10 ปี จนถึงขณะนี้ยังเหลือเวลา 5 ปี หรือจะหมดในปี 2566 โครงการนี้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ เช่น ให้ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวน้อย แต่ขณะนี้ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะมีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ถูกปรับขึ้นไปจากบัญชี LDCs และถูกตัดสิทธิ แต่ก็ไม่น่าจะมีการตัดสิทธิกลางโครงการ หากจะพิจารณาตัดสิทธิก็ควรจะหลังสิ้นสุดโครงการนี้ไปแล้ว” นายประสพกล่าว

ขณะนี้ทางกลุ่มไนซ์กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าตามแผนที่จะขยายกำลังการผลิตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็น 23-24 ล้านตัวในปี 2564-2565 เพราะแผนนี้เป็นการวางล่วงหน้าไว้ 4-5 ปี หากจะมีการทบทวนแผนการลงทุนคงต้องรออีกระยะ 2-3 ปีหลังจากนี้