กรมการค้าตปท. ชี้ 3 กลุ่มสินค้า เหล็ก-อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ อาหารทะเลแช่แข็ง มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น

กรมการค้าต่างประเทศ ชี้ 3 กลุ่มสินค้า ‘เหล็กและอะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง’มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น หลังคู่แข่งโดนมาตรการทางการค้าอ่วม ส่วนกรณีคู่ค้าตอบโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ไทยไม่กระทบ จับตาสินค้าจีนทะลักอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดการให้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการสำรวจสถานการณ์การใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Measure : AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ติดตามการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ ว่าจะส่งผลดี ผลเสียต่อไทยอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนรับมือหรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพบว่า มีสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่ประเทศนำเข้ารายสำคัญได้ใช้มาตรการกับประเทศผู้ส่งออก แต่ไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าเข้าไปแทนคู่แข่งในตลาดที่มีการใช้มาตรการ

โดยสินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ประเทศผู้นำเข้าเหล็กที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ได้มีมาตรการ AD/CVD/SG กับสินค้ากลุ่มเหล็กกับประเทศคู่แข่งของไทยจำนวนมาก แต่ไทยไม่ถูกใช้มาตรการ หรือได้รับยกเว้นจากการถูกใช้มาตรการ เช่น ออสเตรเลียใช้มาตรการ AD/CVD กับสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Zinc coated (galvanised) steel) และเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมสังกะสี (Aluminium zinc coated steel) จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย, ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา ใช้มาตรการ AD/CVD กับสินค้าอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด จากจีน เวียดนาม และมาเลเซีย และสหภาพยุโรป เรียกเก็บอากรปกป้อง (ชั่วคราว) กับสินค้ากลุ่มเหล็ก 28 กลุ่มสินค้า กับทุกประเทศ โดยไทยได้รับการยกเว้น

“สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เป็นสินค้าสำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่มีการใช้มาตรการ AD/SG กับสินค้าของไทย ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้ โดยไทยจะต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้ชั้นคุณภาพที่มีมาตรฐานตรงความต้องการของประเทศปลายทาง”นายอดุลย์กล่าว