ทุ่มงบยกระดับ “โลจิสติกส์” เชื่อมรถ-ราง-เรือไปได้สวย

ภาพจาก แฟ้มภาพ
สรท.ชี้ อนาคตโลจิสติกส์ไทยสดใส หลังรัฐทุ่มสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และท่าเรือชายฝั่ง ชี้การเชื่อมทั้ง 3 โหมดแบบไร้รอยต่อ เร่งถกบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้จัดสัมมนา “อนาคตโลจิสติกส์ประเทศไทย : เชื่อมโยงรถ-เรือ-ราง รองรับการค้าระหว่างประเทศ” ขึ้น โดยนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสายการเดินเรือของญี่ปุ่นได้รวมตัวกันนำเรือใหญ่ขึ้นมารับสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ต้องรอกว่า 5-7 ชม. ดังนั้นหากมีการสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ทำอย่างไรจะไม่แออัด เพราะปัจจุบันรถไฟขนสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ปีละ 4-5 แสนตู้ทีอียูจากแผนที่วางไว้ 2 ล้านทีอียู ควรสร้างท่าเรือสุราษฎร์ธานี และท่าเรือสงขลา 2 มาเสริม

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในประเด็นไทยจะพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในอาเซียนได้อย่างไรว่า ไทยอาจสู้สิงคโปร์ไม่ได้ แต่ไทยมุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมย่านชายฝั่งทะเลตะวันออก ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้หลายอุตสาหกรรมมาผลิตมากขึ้น โดยมีมอร์เตอร์เวย์เชื่อมกรุงเทพฯ-อยุธยา และเชื่อมต่อถึงท่าเรือแหลมฉบัง หรือเชื่อมจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ซึ่งช่วยให้การขยายอุตสาหกรรมไปภาคอีสานมากขึ้น

การลงทุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยบวก ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องการบริหารจัดการในการเชื่อมโยงในโหมดต่าง ๆ ให้ไร้รอยต่อ ต้องรีบเสนอภาครัฐบริหารจัดการก่อนแออัด รวมทั้งการศึกษาสร้างไอซีดีที่อยุธยาเพิ่มเติมจากเดิมที่ลาดกระบัง

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ท่าเรือทุ่มงบฯ 1,000 ล้านบาท ขยายถนนจาก 4 เลนเป็น 6-7 เลน และขยายประตูท่าเรือเสร็จปลายปี 2560 ท่าเรือชายฝั่งที่แหลมฉบังรับสินค้าได้ 3 แสนทีอียู สร้างเสร็จแล้ว กำลังหาผู้บริหาร ระบบการจองคิวขนสินค้าเข้าท่าเรือที่มี 10% หรือ 800-1,000 คัน จะขยายการจองคิวให้มากขึ้นเพื่อลดความแออัด ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของท่าเรือคือต้องมีสินค้าจากทางรถไฟเข้ามา 30% และทางน้ำ 10% และวันที่ 16 ต.ค.นี้ จะมีการเสนอโครงการสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี”68

นายกฤษฎาพล มณีเนตร รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟฯพยายามล้างภาพลักษณ์การบริการให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาอยากจะขนสินค้าให้ภาคเอกชนที่ติดต่อเข้ามา แต่สภาพหมอนรางรถไฟ หัวรถจักร แคร่ มีจำกัดและค่อนข้างแย่ ความเร็วของรถไฟจึงลดลงเกือบทุกเส้นทาง การที่ภาครัฐมาสนับสนุนการทำรถไฟทางคู่ การซื้อหัวรถจักรและแคร่เพิ่ม โดยประมูลเช่าพร้อมกับให้ซ่อมช่วยให้บริการภาคเอกชนดีขึ้น การรถไฟฯตั้งเป้าไปให้ทันเวลามากที่สุด เรื่องการล้างขาดทุนค่อยว่ากันทีหลัง เอากลุ่มคู่แข่งที่บรรทุกข้าว น้ำตาลมาเป็นคู่ค้า เอาพนักงานที่ปลดเกษียณมารับจ้างขับรถไฟต่อไป สร้างคอนเทนเนอร์ยาร์ดรองรับสินค้าทางราง

นางรัตนา อิทธิอมร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมได้วางแผนสร้างสถานีขนส่งสินค้าทั่วประเทศเชื่อมโยงกับระบบรางไว้ 11 แห่ง เช่น ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ติดกับด่านศุลกากรเชียงของ ปี 2562 จะเปิดประมูลให้เอกชนมาบริหารนาน 15-30 ปี ที่ จ.หนองคาย สร้างติดด่านศุลกากร และที่ จ.นครพนม บริเวณใดติดทางรถไฟก็จะเว้นที่ดินบางส่วนให้การรถไฟฯทำคอนเทนเนอร์ยาร์ด หรือถ้าห่างกัน 3-5 กม. กรมก็จะไม่แข่งกับการรถไฟฯ