น้ำเขื่อนทั่วประเทศรวมกัน 1.2 หมื่นล้านลบ.ม. อีก 15 วันสิ้นฤดูฝน แล้งปีหน้า มีใช้เหลือเฟือ

แฟ้มภาพ

วันที่ 18 ตุลาคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายการปริมาณน้ำกักเก็บรวมในเขื่อนทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 80 โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และยังอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังฝนตกหนัก
ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 90 เป็นน้ำใช้การได้จริง 569 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 86 เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,499 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ มีปริมาณน้ำดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 68 เป็นน้ำที่ใช้การได้จริง 5,407 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณกักเก็บน้ำ ร้อยละ 88 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 5,480 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 66 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 1,198 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณการกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 34 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 248 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนสิรินธร ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 70 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 554 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณการกักเก็บน้ำร้อยละ 71 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 682 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนศรีนครินทร์ ปริมาณการกักเก็บร้อยละ 91 ปริมาณที่ใช้ได้จริง 5,965 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 89 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 4,833 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนรัชประภา ปริมาณการกักเก็บร้อยละ 86 ปริมาณที่ใช้การได้จริง 3,99 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนบางลาง ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 61 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 606 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณการเก็บกักน้ำไม่ถึงร้อยละ 40 ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง ร้อยละ 34 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 121 ล้านลูกบาศก์เมตร) เขื่อนกระเสียว ร้อยละ 34 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 299 ล้านลูกบาศก์เมตร) เขื่อนทับเสลา ร้อละ 30 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ที่ 12,236 โดยกรมชลประทานได้คำนวณปริมาณความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝนในปี 2562 สำหรับ การอุปโภค บริโภค การเกษตร และสำหรับระบบนิเวศน์ อยู่ที่ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหลือเวลาอีก 15 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝน จึงถือว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนทั่วทั้งประทศ เพียงพอแล้ว

วาฟระบุว่า ช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมทะเลจีนใต้แต่ยังคงแผ่เป็นลิ่มลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้มีกระแสลมตะวันออกจากทะเลจีนใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับมีกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปะทะกัน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนกลับมามีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกปานกลางถึงหนักได้ในบางแห่ง ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง อาจมีกำลังแรงขึ้นและมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ปลายแหลมญวน ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์