หวั่นอบรมใช้ 3 สารเคมีไม่ทัน เกษตรกรอดใช้-ชี้ NGO ทำราคาผักวูบ

หวั่นการอบรมเกษตรกร 5 ล้านคน ตามร่างประกาศควบคุมการใช้ 3 สารเคมีของกระทรวงเกษตรฯวุ่นหนัก เกษตรกรหมดสิทธิ์ใช้สาร เหตุให้เวลาภายใน 90 วันหลังออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เสนอยืดเวลาออกไปไม่ต่ำกว่า 2 ปี รวมทั้งเพิ่มพื้นที่นาข้าวและเลิกจำกัดการใช้เข้าไปด้วย ประธานเครือข่ายคนรักแม่กลองอัดเอ็นจีโอออกข่าวเท็จพบสารตกค้าง ทำราคาพืชผักราชบุรีทรุดหนัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอตคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตั้งแต่การผลิต การนำเข้า ส่งออก การอบรมการใช้สารแก่เกษตรกร การควบคุมการใช้สารเคมี และการจำกัดการใช้สารเคมีขึ้น โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เสนอว่า การอบรมเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 20 ล้านคน หรือประมาณ 5 ล้านครัวเรือน ในการใช้ 3 สารเคมีให้เสร็จภายใน 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังไม่รวมผู้รับจ้างฉีดพ่นสารอีกประมาณ 2 แสนราย และร้านค้าสารเคมีอีกประมาณ 3 หมื่นแห่ง ไม่ทันอย่างแน่นอน เช่น ปีแรกอาจจัดอบรมได้ 1 ล้านคน ปีที่สองอบรมอีก 1 ล้านคน ปีที่สามต้องอบรม 2 ล้านคน เพราะผู้ที่ผ่านการอบรมปีแรกต้องมาอบรมทุก 2 ปี ปีที่สี่อบรม 2 ล้านคน แต่ปีที่ห้าต้องอบรม 3 ล้านคน ฉะนั้นควรขยายเวลาในการอบรมให้เสร็จภายใน 2 ปี หรืออาจนานถึง 900 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็มีความผิด เกษตรกรก็จะไปซื้อสารเคมีไปฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืชไม่ได้ด้วย แล้วกลุ่มที่ต้องการให้แบน 3 สารเคมีก็จะใช้จุดนี้มาโจมตีรัฐบาล

ประเด็นต่อมา คือ ควรขยายการใช้สารเคมีในพื้นที่นาข้าวด้วย โดยเฉพาะตามคันนา ซึ่งพื้นที่ 15 ไร่ คิดเป็นพื้นที่จะต้องฉีดพ่นประมาณ 500 ตารางเมตร และตามนโยบายสานพลังประชารัฐสนับสนุนชาวนาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เกษตรกรจะมีปัญหาในการใช้สารเคมีเหล่านี้ เพราะถูกจำกัดการใช้ในพืช 6 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพื้นที่ต้นน้ำ เป็นการจำกัดสิทธิ์และเป็นอุปสรรคในการดำรงชีพ หากสภาพดินฟ้าอากาศเกิดความแห้งแล้ง อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่น แต่ทางภาครัฐจำกัดห้ามใช้สารเหล่านี้

นอกจากนี้ การจะแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นเจ้าพนักงานดูแลตรวจสอบการใช้สาร ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เพียงพอ ก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพตามมา ควรให้เกษตรกรตำบล เกษตรอำเภอ มาดูแลจะดีกว่า ภาพโดยรวมตนจะเสนอต่อนายสุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงพิจารณาก่อนเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลิกจำกัดการใช้ 3 สารเคมีต่อไป

ขณะที่ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ตัวแทนบริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าสารเคมีไกลโฟเซต กล่าวว่า ขณะนี้สารไกลโฟเซตขึ้นทะเบียนใน 160 ประเทศทั่วโลก ยังไม่มีประเทศใดห้ามใช้หรือจำกัดการใช้สาร เพราะไกลโฟเซตมีพิษต่ำมาก ไม่ก่อมะเร็งและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์หรือรองรับในเรื่องที่อ้างว่าก่อมะเร็ง กรมวิชาการเกษตรจึงควรเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายปลดไกลโฟเซตออกจากการจำกัดการใช้ทางด้านนางสาวอัญชลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า การที่กลุ่มเอ็นจีโอออกข่าวตรวจพบ 3 สารเคมีดังกล่าวในพืชผักและน้ำใน 5 จังหวัด ที่รวมถึงจังหวัดราชบุรี ทำให้เกษตรกรในจังหวัดที่ส่งพืชผักไปจำหน่ายที่ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี เดือดร้อนมาก ราคาผักคะน้าหน้าฟาร์มจาก กก.ละ 30 บาท เหลือ กก.ละ 2 บาท ล่าสุด กก.ละ 3 บาท ขณะที่ต้นทุนผลิต กก.ละ 4 บาท ผักกะเพราและโหระพาเหลือ กก.ละ 2 บาท เท่าต้นทุนผลิต ทางเครือข่ายได้ให้กรมวิชาการเกษตรไปตรวจสอบหลายครั้งก็ไม่พบ 3 สารในผัก น้ำ ดิน แต่อย่างใด เคยขอหลักฐานจากกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ก็ไม่ให้หลักฐาน ดังนั้น เรื่องนี้จะเสนอข้อมูลไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ และให้เลิกจำกัดการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว เพราะกลุ่มเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ และยังปฏิเสธว่าไม่เคยพูดถึงราชบุรีในการพบสารเคมีเหล่านี้

“เท่าที่ขอข้อมูลจาก 4 กรมของรัฐ คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ที่มีแล็บหรือห้องปฏิบัติการกลางในการตรวจสอบสารตกค้างในผักกว่า 7,054 ตัวอย่าง ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่พบสารตกค้างถึง 88.8% มีสารตกค้างเพียง 11.2% แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่การที่กลุ่มเอ็นจีโอทำเช่นนี้ เกษตรกรเดือดร้อนมาก”