“อุตตม” ประชุมชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ประกาศตั้งศูนย์พัฒนาอ้อยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ณ สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ โดยมีชาวไร่เข้าร่วมหลายร้อยราย ซึ่งพื้นที่นี้มีปริมาณอ้อยส่งเข้าโรงงานจำนวน 7,265,671.03 ตัน มีชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาจำนวน 8,177 ราย มีสมาชิกที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานจำนวน 23,000 ราย

นายอุตตมกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ผ่านโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวมจำนวน 6,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม

“เป็นครั้งแรกในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกับการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตที่รัฐให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก ช่วยบรรเทาผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำ ภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมระบบใหม่ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เนื่องจากเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการได้”นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้ง 1.ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพที่ดีและทันสมัยที่สุดในเอเชียโดยที่ผ่านมามีนักวิชาการจากในประเทศและต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วกว่า 20,000 คน 2.พัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ศูนย์ภาค และ3.มีแผนในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี มีรูปแบบการทำงานลักษณะเดียวกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) โดยจะเป็นศูนย์ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพกับเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ โดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องทดสอบของศูนย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 นี้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์