คุย10ปี ตั้งสนง.ส่งเสริมผลิตภาพ-มาตรฐาน-นวัตกรรม

“อุตตม” เตรียมชง ครม.ตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการบริหาร การส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมดึง 4 หน่วยงานด้านรับรองระบบงานเข้าร่วม

น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีความพยายามในการรวมหน่วยงานมาตรฐานเดียวเข้าไว้ด้วยกัน หรือ single agency มานานกว่า 10 ปี ล่าสุดการประชุมของคณะทำงาน ซึ่งมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางคณะทำงานได้สรุปแผนงานเพื่อดำเนินการตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการบริหาร การส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นมาแล้ว โดยสำนักงานดังกล่าวจะรวมหน่วยงานด้านรับรองระบบงาน (accredit) จาก 4 หน่วยงานไว้ด้วยกัน ได้แก่

1) สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ ทำหน้าที่รับรองระบบงาน รับรองห้องทดลอง (lab) เป็นหน่วยหนึ่งในสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม 2) หน่วยรับรองระบบงาน ที่อยู่ในสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3) หน่วยรับรองระบบงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข และ 4) หน่วยรับรองระบบงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภายหลังการประชุมคณะทำงานได้เสนอแผนการรวมหน่วยงานข้างต้นแก่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว และ รมต.ได้สั่งการให้คณะทำงานดำเนินตามแผนงานได้ทันที และจะเสนอแผนงานการรวบทั้ง 4 หน่วยงานไว้ในสำนักงานที่จะตั้งขึ้นมาใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการบริหาร การส่งเสริมผลิตภาพฯจะเป็น “องค์กรอิสระมหาชน” ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรืออาจจะอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี พ.ร.บ.การบริหาร การส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. …ที่อยู่ระหว่างร่างขึ้นมาควบคุมโดยเฉพาะ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเพื่อบริหารดูแลงาน สำนักงานจะมีภารกิจรับผิดชอบเรื่องการ “กำหนดนโยบาย” ด้านการส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และเชื่อมโยงกับนโยบายด้านนวัตกรรม ในรูปแบบของ single policy ขณะที่ส่วนงานด้าน “การส่งเสริม” ผลิตภาพการมาตรฐานและนวัตกรรมจะเป็นรูปแบบของ single network

“เราไม่ได้ดึงหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ ออกมาทั้งก้อน แต่จะดึงเพียงส่วนเดียว จึงไม่ได้ยุบหน่วยงานนั้น ๆ อย่างของ สมอ. สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ ก็ต้องหายไป เช่นเดียวกับกรมของกระทรวงอื่น ๆ ที่มีเพียงหน่วยงานเดียวหายไปเท่านั้น” น.ส.นิสากรกล่าว

เดิมทีรูปแบบของ single agency ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จะหมายถึง การรวมหน่วยงานด้านมาตรฐานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อตั้งเป็นสำนักงานใหม่ ปรากฏแนวคิดนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับบางหน่วยงานด้านมาตรฐานในปัจจุบันว่า หน่วยงานใหม่จะอยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานใด อำนาจบริหารหลังจากการยุบรวมหรือเป็นการลดทอนอำนาจเดิมของแต่ละหน่วยงานลงหรือไม่ แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลที่ว่า ผู้กำหนดนโยบาย/ออกกฎ/ระเบียบจะต้องไม่ใช่หน่วยงานเดียวกันกับผู้ปฏิบัติ ดังนั้นการตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหาร การส่งเสริมผลิตภาพฯขึ้นมาใหม่จึงเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้ว

มีรายงานข่าวจากคณะทำงานเข้ามาว่า หากแผนการตั้งสำนักงานใหม่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.และร่าง พ.ร.บ.บริหารการส่งเสริมผลิตภาพ การมาตรฐาน และนวัตกรรมแห่งชาติมีผลบังคับใช้ จะสามารถดำเนินการตั้งสำนักงานใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ส่วนหน่วยรับรองระบบงานต่าง ๆ พร้อมบุคลากรจะมีระยะเวลาของการปรับถ่ายโอนงานช่วงแรกมาสู่องค์กรใหม่ภายใน 2 ปี

“ข้อดีของการตั้งสำนักงานใหม่ก็คือ งานมาตรฐานผลิตภาพของไทยจะมีแกนกลางนโยบายที่ดูภาพรวมทั้งประเทศ แก้ปัญหางานด้านการส่งเสริม จากเดิมยังไม่ชัดเจน ต่างคนต่างทำ ผลลัพธ์จึงยังไม่ได้ผลและยังไม่ได้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยได้ ดังนั้นสำนักงานแห่งใหม่จะเป็นหน่วยงานชี้นำทิศทางนโยบายว่า ควรไปทางไหน เช่น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ต้องเป็นผลิตภัณฑ์อะไร โดยต้องชี้จำเพาะให้ชัด อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์จะทำอะไร ผลิตภัณฑ์ที่จะเพิ่มผลิตภาพให้กับประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้วางไว้” กรรมการในคณะทำงานกล่าว