อานิสงส์”สงครามการค้า” R3Aพาผลไม้ไทยเข้าจีน

แฟ้มภาพ
พาณิชย์ ชี้ อานิสงส์ “สงครามการค้า” ดันส่งออกผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนทดแทนสหรัฐ ผ่านเส้นทาง R5-R3A เชื่อมจ.เชียงราย ผ่านเส้นทาง One Belt One Road เน้นเจาะตลาดรายมณฑล เตรียมดึงผู้นำเข้าจีนลงพื้นที่ดูสวน-ล้งผลไม้ ก.พ.นี้ 

 

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมมีแผนมุ่งผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยเข้าตลาดจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นในปี 2562 โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะนำคณะผู้นำเข้าจีนที่เดินทางมาไทยไปลงพื้นที่ในสวนผลไม้ ล้ง เพื่อให้ได้สัมผัสและเกิดการเจรจาผู้นำเข้าและผู้ค้าของไทย

การขยายตลาดนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งจีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าผลไม้จากสหรัฐ ส่งผลให้ผู้ส่งออกสหรัฐส่งออกไปยังจีนได้ลดลง 15-20% จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปขยายตลาดผลไม้ในตลาดจีนให้มากขึ้นได้

“แม้ว่าจากปัญหาสงครามการค้าอาจทำให้สหรัฐปรับลดราคา หรือกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อส่งออกผลไม้ไปตลาดจีน แต่ผู้ส่งออกไทยก็ต้องเตรียมตัวและหาโอกาสในการทำตลาดไว้ เพื่อมีช่องทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะส่งเสริมทันที โดยปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 50% ของการส่งออกผลไม้ส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ลำไยอบแห้ง แต่สินค้าอื่นยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น การส่งออกผลไม้ปี 2562 ก็คาดหวังให้ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปี 2561 ที่ไทยมีการส่งออกผลไม้ไทยไปในตลาดโลกมีมูลค่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% ตลาดหลักอาเซียน เอเชีย”

ทั้งนี้ การขยายการส่งออกจะใช้เส้นทาง R5 ไปยังคุนหมิง-หมี่เหลอ-หยินซ่อ-ไคหยวน-เม่งซือ-เฮียโค่ว (จีน) -ลาวไค-ฮานอย-ไฮฟอง (เวียดนาม) ซึ่งเชื่อมกับ R3A ที่เชื่อมกับ จ.เชียงรายของไทย เพื่อเจาะตลาดขนส่งสินค้าเข้าไปยังตลาดตามเส้นทางดังกล่าว รวมถึงตลาดเมืองรองในจีนที่น่าสนใจ เช่น กว่างโจว ยูนนาน เซี่ยงไฮ้ ฉิงเต่า เจ้อเจียง หางโจว ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งแต่ละเมืองจะทำการตลาดการค้าที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ผลไม้ไทยจะเป็นคนละชนิดกันกับผลไม้สหรัฐที่ส่งออกไปยังประเทศจีน แต่ถือว่าเป็นการเข้าไปทดแทนตลาดผลไม้ของสหรัฐในจีนได้ โดยชนิดผลไม้กลุ่มที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ เช่น กีวี องุ่น ส้ม แอปเปิล กล้วย เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ไทยมุ่งจะขยายการส่งออกนั้นมีทั้งผลไม้สด เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วย ส้มโอ หรือมะม่วง สับปะรด มะพร้าว หรือส้ม ลิ้นจี่ รวมไปถึงผลไม้กระป๋อง นอกจากผลไม้แล้วกรมยังมีแผนจะขยายไปยังสินค้าเครื่องสำอางและขนมด้วย

“ไทยยังมีโครงการ กิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้าและผู้ค้าจีน เร่งหาช่องทางการขยายตลาดผลไม้เข้าไปได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นจูรี่ เหอหม่า ซึ่งมีสาขาอยู่จำนวนมาก เพื่อผลักดันสินค้าเข้าไปจำหน่ายในจีน และเชื่อมโยงไปตามเส้นทางการค้า one belt one road (OBOR) เป็นนโยบายสำคัญของจีนที่กำลังผลักดันก็น่าจะส่งผลให้ตลาดเติบโตไปได้เร็ว”

รายงานจากกรมศุลกากร ระบุว่า มูลค่าการค้าไทย-จีน ช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) 2561 เท่ากับ 73,873 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.77% มูลค่าการส่งออก 27,729 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.21% การนำเข้า 46,144 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.13% โดยไทยขาดดุลการค้า 18,415 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!