“จดทะเบียนฟาร์ม” รับมือASF

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรเต็มที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเตรียมเสนอพิกบอร์ดชดเชย 75% ของราคาตลาดและตั้งกองทุน พร้อมขึ้นทะเบียนฟาร์มเลี้ยง เผยราชบุรีเป็นพื้นที่เสี่ยงสุด

รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการพื้นที่การเลี้ยงสุกร 6 ภูมิภาคที่มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องขึ้น เพื่อวางแผนรับมือกับโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF) ที่ลุกลามจากจีนเข้าเวียดนามและกัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับไทย หากเกิดโรคนี้ขึ้นในไทยจะป้องกันไม่ให้ลุกลามค่อนข้างยาก เพราะโรคนี้เป็นเชื้อไวรัสที่ค่อนข้างทนทานต่อสภาพแวดล้อม จึงต้องประเมินความเสี่ยงของโรค ASF ในเชิงพื้นที่ โดยมีแนวทางดังนี้คือ 1.ระยะทางถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน 2.ระยะทางถึงโรงฆ่าสัตว์และความหนาแน่นของโรงฆ่าสัตว์ 3.port of entries ต่าง ๆ 4.ปริมาณการเคลื่อนย้ายสุกร 5.ปริมาณสุกรของผู้เลี้ยงรายย่อยและมีการเลี้ยงด้วยเศษอาหาร 6.ความหนาแน่นของสุกร 7.สถานที่เลี้ยงสุกรเพื่อการท่องเที่ยวหากโรคนี้แพร่ระบาดเข้าประเทศได้ จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีโอกาสเกิดโรคมากกว่า 50% เรียงจากมากไปหาน้อยคือ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ขอนแก่น สงขลา อุบลราชธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ ฯลฯ

ผู้แทนเครือข่ายสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เสนอว่า หากราชบุรีเป็นจุดเสี่ยงที่สุดในประเทศและมีรถบรรทุกผักจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงรายที่นำเข้าผักจากจีนมาที่ราชบุรี จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และการชดเชยจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเห็นว่าควรชดเชยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่ 75% ของราคาตลาด เมื่อตรวจพบให้ดำเนินการจ่ายเงินทันทีเพื่อซื้อซากสุกรมาทำลาย รวมทั้งสมาคมจะเร่งประสาน หน่วยงาน/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองทุนสุกรขึ้น และนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะดำเนินการและแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุกรด้วย โดยให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วางแนวทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยง เกษตรกรสามารถยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่เลี้ยง