5รง.นำร่องลดเผาอ้อย3ปี สอน.จูงใจสินเชื่อ2,000ล.

สอน.นำร่อง 5 จังหวัด 5 โรงงาน ลดเผาอ้อยภายใน 3 ปี ดันสินเชื่อลงทุนเครื่องจักร ลอตแรก 2,000 ล้านบาท เอกชนขานรับพร้อมขยายไปพื้นที่อื่น ติงหลักการสินเชื่อ ธ...ไม่เอื้อโรงงานน้ำตาลมิตรผล-KTIS” ทุ่มลงทุนรถตัดอ้อยช่วยชาวไร่รวมแปลง ด้านชาวไร่ชี้ 3 ปีลดเผาอ้อยยังยาก

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดภายใน 3 ปี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดพื้นที่ 5 จังหวัด 5 โรงงานน้ำตาลนำร่อง คือ โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี, โรงงานน้ำตาลราชบุรี จ.ราชบุรี, โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ, โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง จ.เลย, โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์

ดำเนินการโดยนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2562/2563 โรงงานน้ำตาลต้องลดสัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกิน 30% ต่อวัน หากชาวไร่นำส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะถูกหักราคาอ้อย 5% ต่อตัน ต่อมาในฤดูการผลิตปี 2563/2564 สัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องไม่เกิน 20% ต่อวัน หากชาวไร่นำส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะถูกหักราคาอ้อย 10% ต่อตัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 สัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน หากชาวไร่นำส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะถูกหักราคาอ้อย 15% ต่อตัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี

ขณะที่มาตรการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรก 2562

เริ่มปล่อยวงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ซึ่งภาครัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างให้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ปรับพื้นที่ปลูกอ้อย พัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย โดยโรงงานน้ำตาลคู่สัญญากับชาวไร่จะเป็นผู้ค้ำประกัน

โดยในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เตรียมลงนามความร่วมมือโครงการ “เกษตรปลอดการเผา Zero Burn” กับบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด, กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, องค์กรชาวไร่อ้อย, 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และ ธ.ก.ส. เดินหน้าลดการเผาอ้อยเพิ่มเติม

นายสามชัย ไชยทิพย์อาสน์ ที่ปรึกษา บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด กล่าวว่า ชาวไร่ยังเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก จากความสามารถของชาวไร่ มีขนาดพื้นที่ไร่อ้อยไม่ใหญ่ เทียบกับวงเงินราคาเครื่องจักรกล หรือรถตัดอ้อยที่สูงถึงคันละ 12 ล้านบาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เคยขอไว้ 1% ก็ไม่สามารถทำให้ได้ ดังนั้น สินเชื่อควรเปิดหลักเกณฑ์ให้โรงงานสามารถขอสินเชื่อนี้ได้ด้วยเช่นกัน เพราะโรงงานน้ำตาลมีศักยภาพและความสามารถพร้อม

นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอ้อยและน้ำตาล บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มรณรงค์รับอ้อยสดมาตลอด บวกกับใช้เงินลงทุนซื้อเครื่องตัดอ้อยหลายร้อยล้านบาท ทำให้การรับอ้อยสดเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น โรงงานน้ำตาลที่อุตรดิตถ์ ปัจจุบันมีอ้อยสดเข้าหีบกว่า 70% จาก 60%

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ยังคงต้องดูแลอุตสาหกรรมน้ำตาลและภาคเกษตรกร ทั้งการเพาะปลูก มาตรการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป

สำหรับมาตรการลดอ้อยไฟไหม้จะเห็นภาพการลดลงที่ชัดเจน รัฐจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วย บวกกับมาตรการหนุนอื่น ๆ เช่น โมเดลโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล ที่แม่สอด จ.ตาก ที่รับอ้อยสดถึง 98% จากเดิมสัดส่วน 50% ซึ่งใช้เวลา 2-3 ปี โดยต้องใช้ราคาจูงใจ เนื่องจากชาวไร่มีปัญหาแรงงาน แนะชาวไร่ปรับพื้นที่รวมแปลงให้ได้ขนาด 2,500 ไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตอ้อย 25,000 ตัน ถือว่าคุ้มค่าหากต้องลงทุนราคารถตัดอ้อย 12 ล้านบาท/คัน จากเดิมชาวไร่มีแปลงแค่ 500 ไร่เท่านั้น

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้เป้าหมาย 3 ปีการลดอ้อยไฟไหม้ให้หมดจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งปีแรกจะเริ่มทยอยลดลงได้เพียง 10% เท่านั้น เพราะปัญหาคือความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อรถตัดอ้อย ส่วนใน 5 พื้นที่นำร่องจำเป็นต้องขยายต่อไปจังหวัดอื่นอีก และต้องร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันไม่ให้ลักลอบเผา ซึ่งเป็นปัญหาที่จับมือใครดมไม่ได้