ดีเดย์ 16 ส.ค. คิวอาร์โค้ดยา คน.ลั่นลงดาบโรงพยาบาลไม่แจ้งข้อมูล

ผู้ป่วยเฮ เปิดตัว “คิวอาร์โค้ดเทียบค่ายา” ดีเดย์ 16 ส.ค.นี้ หนังสือเรียกโรงพยาบาล ผู้ผลิต ผู้นำเข้า เข้าชี้แจงด่วน หลังไม่แจ้งข้อมูล กำหนดชี้แจงให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ก่อนส่งเรื่องถึงศาล

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงผลดำเนินการหลังจากครบกำหนดที่โรงพยาบาลเอกชน 353 โรงพยาบาล ผู้นำเข้า-ผู้ผลิต 345 ราย แจ้งข้อมูลราคาซื้อ-ขายยาและเวชภัณฑ์มาที่กรมการค้าภายใน เมื่อ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลแจ้งข้อมูลมาแล้ว 312 แห่ง ซึ่ง 298 แห่งแจ้งครบถ้วน ส่วนอีก 14 แห่งยังต้องปรับปรุง และมีโรงพยาบาลที่ไม่แจ้งข้อมูล 37 แห่ง และมี 4 โรงพยาบาลที่ไม่เข้าข่าย และไม่มีคุณสมบัติที่จะต้องแจ้งข้อมูล เนื่องจากปิดกิจการและแปลงสภาพเป็นคลินิกไปแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแจ้งข้อมูลแล้ว 240 ราย โดยยังมีบางส่วนที่ข้อมูลไม่ครบถ้วนต้องปรับปรุง และพบว่ามี 81 รายไม่แจ้งข้อมูล และ 19 รายไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องแจ้งข้อมูล และ 5 รายไม่สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะต้องแสดงคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงและเปรียบเทียบราคายา เวชภัณฑ์ได้ สามารถดูได้ภายหลังจาก 16 สิงหาคม 2562 โดยจะต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการไม่รวมในค่ารักษา ระบุข้อมูลแต่ละรายการให้ชัดเจน ส่วนค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ หรือค่าบริการอื่นต้องแจ้งแยกกัน จะนำมารวมกับราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วย

สามารถติดตามราคายาได้ ส่วนเรื่องราคาเวชภัณฑ์อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าอีก 1 เดือนจะสามารถตรวจสอบค่าบริการทางการแพทย์ได้ เนื่องจากมีหลายรายการ ทั้งยังต้องใส่รหัสให้เข้าใจง่าย

ส่วนกรณีจะให้มีราคากลาง หรือสามารถบวกกำไรได้เพิ่มเท่าไรนั้น เรื่องนี้สำคัญ ไม่สามารถตัดสินได้เพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องหารือกับทุกหน่วยงาน ซึ่งต้องขอระยะเวลาในการศึกษาต่อไป

ส่วนผู้ที่ไม่แจ้งข้อมูลนั้น กรมส่งหนังสือเพื่อเชิญมาชี้แจงเหตุผลภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากไม่มาตามหมายเรียกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษปรับ 5,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่มาดำเนินการใด ๆ เลย และมีเจตนาไม่ส่งข้อมูล กรมจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่แจ้งราคาซื้อ-ขายราคายาและเวชภัณฑ์ จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเพิ่มวันละ 2,000 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะปรับราคาจำหน่ายยังสามารถทำได้ แต่ต้องแจ้งที่กรมก่อน 15 วันก่อนที่จะมีการปรับราคาซื้อ-ขายยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องประชาสัมพันธ์สิทธิผู้ป่วยว่า ต่อไปสามารถรับรู้ราคายาและเวชภัณฑ์ และโรงพยาบาลจะต้องออกใบสั่งยาโดยให้รายละเอียดที่ผู้ป่วยเข้าใจ เพื่อพิจารณาตัดสินใจรับการรักษา และยังสามารถออกไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งโรงพยาบาลจะต้องประเมินการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยรับรู้ หากพบว่าจำหน่ายเกินความเป็นจริง ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะแจ้งความเพื่อเอาผิดได้