1,033 สมาคมการค้า ตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอย “Recession”

แม้ว่าการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 จะพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน แต่ภาพรวมก็ยังติดลบ 1.9% หรือการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.3 แสนล้านบาทออกมา แต่ดูเหมือนว่าจะมีกำลังไม่พอต้านทานปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า “เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือรีเซสชั่น” ในไม่ช้า

ล่าสุดในโอกาสที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมกับ 1,033 สมาคมการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “ทิศทางธุรกิจ ค่าเงินบาทและสงครามการค้า (trade war) และ disruptive technology นักธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ต่อภาวะผันผวนนี้อย่างไร” เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ศก.โลกส่อชะลอถึงปลายปีหน้า

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะสงครามการค้ามีโอกาสที่จะยืดเยื้อ ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสหรัฐปลายปีหน้า ข้อต่อรองทางการค้ามีโอกาสที่จะขยายวงกว้างไปยังสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ และแปลสภาพไปสู่การแข่งขันทางเทคโนโลยี

“ตัวเลขที่สภาพัฒน์ประเมินไว้ต่ำกว่าประมาณการแบงก์ชาติ เพราะเห็นอาการมาระยะหนึ่งตั้งแต่ต้นปี จึงจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ถามว่า ทำไมลดลงมาก สาเหตุหลักเนื่องจากเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปริมาณการค้าโลก ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตกต่ำสุดในรอบ 9 ปี จากสภาวะเงินเฟ้อพื้นฐาน”

เอฟเฟ็กต์ที่เกิดขึ้นกับไทย เรียกว่าอาจจะ “รีเซสชั่น” คือ ภาพรวม 2-3 เดือนท้าย การจ้างงานเริ่มมีปัญหาและชะลอตัวจากการส่งออกที่ลดลง เมื่อตลาดแรงงานมีปัญหา ตลาดอื่นจึงยากตามไปด้วย เพราะแรงงานเป็นเครื่องยนต์หลักที่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ แม้การเมืองชัดเจนขึ้นก็ตาม ส่วนบัญชีดุลสะพัดอาจเกินดุลต่อเนื่องอีกหลายปี

ทางออกมี 2 ทาง นอกจากจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทางต้องกระตุ้นนักท่องเที่ยวช่วยดึงดุลการค้าที่สวนทางกับสินค้าและบริการ ซึ่งบางสินค้าหลายคนมองข้าม เพราะไทยนำเข้าทองคำแล้วส่งออกเป็นอันดับต้นของโลก จะเป็นตัวช่วยระยะนี้

เร่งลงทุน EEC รุกตลาด CLMV

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เทรดวอร์ไม่ใช่มิติการค้าเพียงอย่างเดียว กลยุทธ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใช้ยุทธศาสตร์ made in China แผ่ขยายไป เมื่อทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้ากันแล้ว “ตอนนี้พังทั้งคู่” จะเห็นว่าจีนเองเริ่มแผ่ว ส่วนเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มมีปัญหา จึงต้องหาทางลง โดยจีนเริ่มใช้เทคโนโลยีมาตอบโต้ทางการค้า ดังนั้นคาดว่าส่อแววยืดเยื้อ

แต่ที่น่าห่วงครึ่งปีหลังส่งผลต่อไทยเองที่พึ่งพาจีน ทั้งการท่องเที่ยวในและส่งออกถึง 25% และรอยต่อรวมไปถึงเบร็กซิต หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปต้องจ่ายให้ EU ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอด้วยปัจจัยเหล่านี้ “ทางออกของไทยต้องเร่งรัดโครงการลงทุน” โดยไม่ต้องรีรอ ทั้ง EEC และ CLMV

รับมือ Disruptive Technology

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการ new economy academy กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า disruptive technology เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ ที่ชัดเจนที่สุดคือวิธีการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยน เป็นการขายสินค้าและบริการกันโดยตรง (peer to peer) ผู้ประกอบการไทยต้องหาช่องทางและจุดแข็งให้เจอ และหาโอกาสเปิดตลาดใหม่ที่ไม่ใช่แค่จีน อเมริกา อินเดีย ยังมีตะวันออกกลาง และเพื่อนบ้านที่โตมาก

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน Kasikorn-Business-Technology Group กล่าวว่า ไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่กระทบ แต่จะอยู่จุดไหนเท่านั้น โดยเฉพาะค้าปลีกซึ่งเป็น SMEs ต้องปรับธุรกิจให้มีจุดเด่นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการลดต้นทุนการเข้าถึงลูกค้าให้เป็น “ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เล็ก ลึก และใช่” แล้วยกระดับไปสู่ startup ในอนาคต

นายณัฐศักดิ์ โรจนพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการและที่ปรึกษาธุรกิจ บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่มีกลยุทธ์จะเป็นจุดอ่อน และ customer กลับเป็นจุดดิสรัปต์เสียเอง จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่เปลี่ยนเร็วมากดังนั้นต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเป็นแกนเห็นได้จากโมเดลธุรกิจใหม่เกิดขึ้น เช่น Netflix ที่ชัดตรงกลุ่มเป้าหมาย