เพิ่มน้ำต้นทุน เขื่อนภูมิพล เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง 1.6 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา 

เขื่อนภูมิพล

เมื่อความต้องการใช้ไฟ-น้ำ เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่ทรัพยากรในการกักเก็บน้ำ-ผลิตกระแสไฟ ผันแปรตามสภาพภูมิอากาศ

กรมชลประทาน จึงพัฒนาโมเดล “เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน” ให้กับ “เขื่อนภูมิพล” จ.ตาก

เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยา  และเติมเต็มความต้องการใช้น้ำและไฟฟ้า

กว่า 2 ทศวรรษ ในการศึกษาวิจัย-สำรวจ-ออกแบบ ในเดือนกันยายน 2562 นี้ โครงการจะถูกพิจารณาใน  คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน บอกว่า “เดิมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทน ได้ศึกษาไว้ปี 2538 ว่าจะผันน้ำสาละวิน มาเติมเขื่อนภูมิพล  หลังมีปัญหาเรื่องการนำน้ำนานาชาติมาใช้ ต่อมาในปี 2549  กรมชลฯได้มีการศึกษาแนวผันน้ำ และพบว่าแนวที่เหมาะสมคือ แนวส่งน้ำอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง- อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล”

โครงการนี้ได้เริ่มลงมือศึกษาวิจัย 2 ปี (2560-2561) พร้อมศึกษาทบทวนโครงการและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตั้งแต่  18 ต.ค. 61 และจะสิ้นสุดการศึกษาปลายปี 2562 มูลค่าโครงการ 7 หมื่นล้าน ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี

ทั้งนี้ ผลศึกษาและออกแบบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นแม่น้ำภายในประเทศ  ที่ปากแม่น้ำอยู่ที่จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 2,858 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อปี  โดยโครงการจะผันน้ำเฉพาะช่วงเดือนมิ.ย.ถึงม.ค. เท่านั้น  ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้ในพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ผันประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

รูปแบบของโครงการจะ แบ่งออกเป็น 3 งาน ได้แก่ 1.งานเขื่อนน้ำยวมและอาคารประกอบ มีลักษณะเป็นเขื่อนหินดาดผิวคอนกรีตสูง 69.5 เมตร กั้นแม่น้ำยวม เพื่อยกระดับน้ำและเก็บกักน้ำในลำน้ำยวม ส่งให้กับสถานีสูบน้ำ ที่จะสูบน้ำผ่านอุโมงค์ 2.งานสถานีสูบน้ำบ้านสามเงาและอาคารประกอบ จะทำการสูบน้ำด้วยความดันจากเขื่อนน้ำยวมส่งเข้าสู่อุโมงค์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

และ 3.งานระบบอุโมงค์และถังพักน้ำ ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยความดันขึ้นไปที่ถังพักน้ำ บริเวณพื้นที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และทำการปล่อยน้ำเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงไหลลงห้วยแม่งูด บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด  จ. เชียงใหม่ ส่งน้ำต่อเข้าสู่เขื่อนภูมิพล รวมความยาวของอุโมงค์ประมาณ 63.47 กิโลเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์ 6.80 เมตร ลึกลงไปใต้ดิน 300-1,000 เมตร

คาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 1.6 ล้านไร่  ในลุ่มเจ้าพระยา บริเวณโครงการชลประทานกำแพงเพชรและลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ เพิ่มน้ำอุปโภค-บริโภคได้ประมาณ 300 ล้านลบ.ม.ต่อปี เพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอีก  20 ลบ.ม.ต่อวินาทีเพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี  หรือ 8,845 ล้านบาทต่อปีและที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำยวมเฉลี่ย 46 ล้านหน่วยต่อปี

เมื่อเขื่อนเสร็จจะส่งผลให้ระดับแม่น้ำยวมสูงขึ้นประมาณ 3 เมตร ระยะทาง 22 กิโลเมตร  มีประชาชนได้รับผลกระทบพื้นที่ทำกิน  25  ราย  พื้นที่รวม 109 ไร่ เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  กระทบสิ่งปลูกสร้าง 9  รวมผลกระทบทั้งหมด  25  ราย พื้นที่ป่าโซนซี กว่า 1พันไร่ ทั้งนี้โครงการได้ตั้งงบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม400 ล้านบาท เช่นการฟื้นฟูป่า ระบบนิเวศน์ในลำน้ำ นอกจากนั้นได้มีการหารือและกำหนดการเยียวยาร่วมกับจังหวัดแล้ว

โดยมีแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่สำคัญคือ ได้ออกแบบระบบป้องกันปลาจากแม่น้ำยวมและแม่น้ำสาละวินไม่ให้ข้ามไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) โดยมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ปลาเข้าใกล้สถานีสูบน้ำเพื่อไม่ให้ปลาหลุดเข้าไปในสถานีสูบน้ำและผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อได้

นอกจากนี้จะก่อสร้างสถานีเพาะพันธุ์ปลาเพื่อศึกษาวิจัย อนุรักษ์ และเพาะพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับแม่น้ำยวม การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาที่หายาก การลำเลียงปลาท้ายเขื่อนไปปล่อยหน้าเขื่อนเช่นปลาสะแงะ (ปลาตูหนา) ปลาคม (ปลาพลวง) ปลากดเสียม ปลากดหมู เพื่อให้ปลาสามารถขึ้นไปวางไข่ในพื้นที่ต้นน้ำได้ การอบรมให้ความรู้ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการประมงแก่ประชาชนที่อาศัยในบริเวณอ่างเก็บน้ำ สำหรับแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ใช้งบประมาณรวม 188ล้านบาทโดยจะดำเนินการต่อเนื่องถึง 11 ปี

นายสุชีพ  มีถม ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า เขื่อนมีความจุ 1.3 หมื่นล้านลบ.ม. น้ำใช้การได้ 9 พันล้านลบ.ม. แต่เคยเต็มแค่ 3 ครั้ง คือปี 2518 ปี 45 และปี 54 จึงเห็นด้วยกับโครงการเพราะเขื่อนภูมิพล จะมีน้ำเฉลี่ย 4,000 – 6,000 ล้านลบ.ม. มีช่องว่างที่จะเติมน้ำได้ประมาณ  2 พันล้านลบ.ม.  ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยเต็ม และเมื่อมีโครงการนี้ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำและพลังงานของประเทศ

สำหรับผลการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จากอยู่ที่ 11.19 % ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่กำหนดให้โครงการลงทุนภาครัฐควรมีอัตราผลตอบแทนของโครงการอยู่ระหว่าง 9% – 12 % และโครงการฯ นี้เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อีกด้วย