ชง”กนศ.”ปัดฝุ่นเจรจาFTAไทย-อียูดันจีดีพี2.5แสนล.

ชง กนศ.ปัดฝุ่นเอฟทีเอไทย-อียู พ.ย.นี้ ชี้เอฟทีเอหนุนจีดีพีพุ่ง 2.5 แสนล้าน เร่งตีตื้นเวียดนาม-สิงคโปร์ พร้อมตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ คาดอียูใช้ต้นแบบเดียวกับเอฟทีเออียูเวียดนาม-สิงคโปร์-เมอร์โคซูร์ ลดภาษี 99% อย่างช้าสุดภายใน 10 ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยมีกำหนดจะต้องหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม จากนั้นจะเสนอสรุปผลต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนพฤศจิกายน เพื่อหาข้อสรุปการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่ชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่อียูจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่เพื่อตัดสินใจเรื่องนี้เช่นกัน

“เอฟทีเอไทยอียูจะช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนสงครามการค้า การมีแต้มต่อด้านสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นสิ่งที่ช่วยชดเชยการส่งออกได้ ซึ่งในอาเซียนก็มีสิงคโปร์ เวียดนามทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว ส่วนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างหารือ อย่างไรก็ตาม กรมทราบความกังวล จึงเตรียมเสนอรัฐบาลตั้งกองทุนเอฟทีเอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย”

นางอรมนกล่าวว่า หากมีการรื้อฟื้นการเจรจาเกิดขึ้น เบื้องต้นคาดว่าฝ่ายอียูจะใช้แนวทางการทำ FTA ที่เคยทำกับเวียดนาม สิงคโปร์ และ Mercosur เป็นพื้นฐานในการเจรจากับไทย เช่น การเปิดตลาด สองฝ่ายตั้งเป้าทยอยลดภาษีจนสามารถยกเลิกได้ 99% ของรายการสินค้าทั้งหมด ภายใน 7-10 ปี กรณีอียู-เวียดนาม และภายใน 3-5 ปี กรณีอียู-สิงคโปร์ เป็นต้น ในส่วนของไทยสามารถใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเตรียมการของไทยในลำดับต่อไป

ขณะที่นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เปิดเผยผลการศึกษาว่าเอฟทีเอไทย-อียูมีผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.7% หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก ธุรกิจก่อสร้าง ยังเพิ่มการสร้างงาน การลงทุน ตลอดจนรายได้เกษตรกร สิ่งที่น่าจับตามองคือ ในแต่ละประเทศอาเซียนเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับอียู

ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะเอฟทีเออียู-เวียดนาม “EVFTA” จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ เป็นความท้าทายต่อการส่งออกไทย เนื่องจากมูลค่าส่งออกเวียดนามไปอียูจะเพิ่มขึ้น 18% หรือ 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะสิ่งทอ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังจะได้ประโยชน์ ขณะที่เอฟทีเออียู-สิงคโปร์ได้กำหนดให้ถิ่นกำเนิดสินค้าสิงคโปร์ครอบคลุมถึงอาเซียน หมายความว่า อนาคตสิงคโปร์จะสามารถตั้งฐานผลิตในประเทศใดในอาเซียนเพื่อส่งออกไปอียูเพื่อจะได้สิทธิลดภาษีด้วย ยิ่งส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องอาหารและภาคบริการ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยที่จะได้รับผลกระทบมีทั้งผลิตภัณฑ์นม น้ำนมดิบ น้ำตาล เครื่องดื่มและยาสูบ อ้อย เป็นต้น รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา และพันธุ์พืช ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบและแนวทางเยียวยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนหอการค้าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมการค้าบิสคลับไทย สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนต่างร่วมให้ความเห็น สรุปประเด็นได้ว่า

1) กรมต้องศึกษาผลกระทบกรณีอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิต) เพิ่มเพื่อเตรียมรับมือ 2) เห็นด้วยกับแนวทางการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ 3) ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ผลิตให้ได้มาตรฐานอียู

4) เอฟทีเอช่วยให้ลดภาษีถาวรทดแทนที่อียูได้ตัดสิทธิทางภาษี (จีเอสพี) ส่งผลดีกับสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ แต่ที่น่าห่วงคือการเปิดตลาดสินค้าใกล้เคียงกับประเทศที่ทำเอฟทีเอกับอียูไปก่อน คือ เครื่องดื่ม นมสำเร็จรูป เครื่องนุ่งหุ่ม รองเท้า ผักสด กาแฟ ชา และเครื่องเทศทำให้เสียเปรียบ 7) ค้าปลีกได้รับผลดี การลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมถือเป็นการสร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวมาไทย 5) ควรทบทวนการเจรจาไทย-อียู ประเด็นอ่อนไหว ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบสุขภาพ เป็นต้น